คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่มีการตกเติมข้อความโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับดังที่จำเลยอ้าง เพราะไม่มีการตกเติมแต่ประการใด การเขียนด้วยปากกาหรือน้ำหมึกลงในช่องว่างที่เว้นไว้เพื่อระบุชื่อคนที่ถูกต้อง ไม่ต้องด้วยความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46วรรคสอง จำเลยมิได้ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมด้วยเหตุว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์แฉลบล้ำเข้าไปชนรถยนต์ฝ่ายโจทก์ในทางเดินรถของฝ่ายโจทก์ แต่กลับนำสืบว่ารถยนต์ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายวิ่งเข้ามาในทางเดินรถของฝ่ายจำเลยและชนกันเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างกับคำฟ้องแต่กลับหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ทั้งที่ในศาลชั้นต้นจำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่ารถยนต์บรรทุกส่วนใดไปชนถูกส่วนใดของรถยนต์เก๋ง และเสียค่าซ่อมรถยนต์เก๋งส่วนใดเป็นจำนวนเท่าใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ป.พ.พ. มาตรา 880 บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกในอายุความอย่างใด ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิก็ย่อมจะมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกภายในอายุความอย่างเดียวกัน ซึ่งผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดได้ภายในหนึ่งปีนับแต่รู้ถึงการละเมิด และมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ภายในสองปีนับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคแรก และมาตรา 882 วรรคแรก ตามลำดับ แม้เกิดเหตุรถยนต์ชนกันเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2525 แต่ได้ความว่าเกิดเหตุแล้วคนขับรถยนต์บรรทุกหลบหนีหลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือนพนักงานสอบสวนจึงทราบจากนายทะเบียนยานพาหนะว่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเป็นของใคร จึงได้ออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาสอบปากคำ จึงถือได้ว่าผู้ต้องเสียหายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2ประมาณวันที่ 2 ตุลาคม 2525 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2526จึงไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 136,046 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 126,800 บาท นับจากวันฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เนื่องจากผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ และโจทก์รับประกันภัยรถยนต์เก๋งไว้โดยไม่ชอบ เพราะผู้เอาประกันมิได้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและคดีของโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 136,046 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 126,800 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในหนี้ดังกล่าวจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาในเรื่องอำนาจฟ้องว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมีการเติมข้อความโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นว่า เรื่องนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ถ้ามีผิดตกที่ใดห้ามมิให้ขูดลบออก แต่ให้ขีดฆ่าเสียแล้วเขียนใหม่ และผู้เขียนต้องลงชื่อไว้ที่ริมกระดาษ ถ้ามีข้อความตกเติมให้ผู้ตกเติมลงลายมือชื่อหรือลงชื่อย่อไว้เป็นสำคัญ” ศาลฎีกาได้ตรวจดูหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์แล้ว ไม่มีความตามที่จำเลยอ้างคือไม่มีการตกเติมแต่ประการใด การเขียนด้วยปากกาหรือน้ำหมึกลงในช่องว่างที่เว้นไว้เพื่อระบุชื่อคนที่ถูกต้อง ไม่ต้องด้วยความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสองดังกล่าวแล้ว
ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยอ้างว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์แฉลบล้ำเข้าไปชนรถยนต์ฝ่ายโจทก์ในทางเดินรถของฝ่ายโจทก์ แต่กลับนำสืบว่า รถยนต์โจทก์เป็นฝ่ายวิ่งเข้ามาในทางเดินรถของฝ่ายจำเลยและชนกัน เป็นข้อเท็จจริงที่ต่างกับฟ้องนั้น วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมด้วยเหตุดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่ารถยนต์บรรทุกส่วนใดไปชนถูกส่วนใดของรถยนต์เก๋ง และเสียค่าซ่อมรถยนต์เก๋งส่วนใดเป็นจำนวนเท่าใดฎีกาจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
และปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปี นับแต่วันละเมิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความห้ามมิให้ฟ้องร้องนั้นวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้นถ้าผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกนั้นภายในอายุความอย่างใด ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิก็ย่อมจะมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกนั้นภายในอายุความอย่างเดียวกัน ซึ่งผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดได้ภายในหนึ่งปีนับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิด และมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ภายในสองปีนับแต่วันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก และมาตรา 882วรรคแรก ตามลำดับ แม้ว่าเกิดเหตุรถยนต์ชนกันเมื่อวันที่ 2กันยายน 2525 แต่ได้ความว่าเกิดเหตุแล้วคนขับรถยนต์บรรทุกหลบหนีหลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ร้อยตำรวจเอกดำรงศักดิ์พนักงานสอบสวนจึงทราบจากนายทะเบียนยานพาหนะว่ารถยนต์บรรทุกคันดัวกล่าวเป็นของใคร จึงได้ออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาสอบปากคำจึงถือได้ว่าผู้ต้องเสียหายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประมาณวันที่ 2 ตุลาคม 2524 โจทก์ผู้รับประกันภัยผู้รับช่วงสิทธิฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2521 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share