แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมา 20 ฉบับ ราคา 210 บาท แล้วนำมาทำหุ้น 100 หุ้น โดยพิมพ์ใบรวมหุ้นให้ผู้ซื้อถือไว้ ถ้าถูกสลากก็แบ่งกันตามส่วน แล้วขายให้จำเลยที่ 2 ไปราคา 225 บาท จำเลยที่ 2 เอาไปขายฉบับละ 2.50 บาท ขายหมดจะได้กำไร 25 บาท การที่จำเลยทำเช่นนี้เป็นการดำเนินการค้าอย่างธรรมดา หาใช่เป็นผู้เสี่ยงโชคแห่งการได้หรือเสียในการออกสลากไม่ จึงไม่เป็นผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๘ เวลากลางวันจำเลยในคดีนี้บังอาจสมคบกันเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินแบ่ง อันเป็นการพนันตามบัญชี ข.หมายเลข ๑๖ ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พนันเอาทรัพย์สินกันด้วยวิธีเสี่ยงโชคมีเงินเป็นรางวัลสำหรับผู้เข้าเล่น ทั้งนี้เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนโดยมิได้รับอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิด เพราะการกระทำของจำเลยไม่เป็นการผิดกฎหมายการพนัน
ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงรับกันในข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมา ๑ เล่มมี ๒๐ ฉบับ หมายเลข ๘๙๓๘๐๐ ถึง ๘๙๓๘๑๙ งวดวันที่ ๓๐ ก.ค. ๒๔๙๘ แล้วนำมาตั้งหุ้นรวมเป็น ๑๐๐ หุ้น ขายหุ้นละ ๒.๕๐ บาท โดยพิมพ์ใบรวมหุ้นให้ผู้ซื้อยึดถือไว้ ถ้าถูกสลากก็แบ่งกันตามส่วน จำเลยที่ ๑ ซื้อสลากมาเล่มละ ๒๑๐ บาท ทำเป็นใบรวมหุ้นขายราคา ๒๒๕ บาท จำเลยที่ ๒ รับไปจำหน่ายฉบับละ ๒.๕๐ บาท ถ้าขายหมดจะได้เงิน ๒๕๐ บาท ได้กำไร ๒๕ บาท จำเลยที่ ๑ ได้กำไร ๑๕ บาท ทั้งนี้โดยยังมิได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โจทก์ส่งใบรวมหุ้น ๑๐ เล่มมี ๑๐๐ ฉบับต่อศาลปรากฎว่ายังไม่ได้ขายไปเลย จำเลยส่งสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว ๒๐ ฉบับต่อศาล แล้วคู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบโดยมิได้รับอนุญาต พิพากษาให้ปรับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า การกระทำของจำเลยที่กล่าว ยังไม่พอที่จะถือว่าเป็นการเล่นสลากกินแบ่งโดยมิได้รับอนุญาตเพราะการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นเพียงวิธีการค้า เพื่อจะขายสลากของรัฐบาลได้สดวกจำเลยมิได้หวังประโยชน์อื่นใด นอกจากค่าเป็นนายหน้าขายสลาก ซึ่งเป็นผลธรรมดาของการค้าเท่านั้น ส่วนรางวัลที่ได้จากรัฐบาลก็จัดแบ่งตามส่วนของหุ้น ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้เอาประโยชน์ส่วนตน จำเลยจัดทำราคาสลากสูงขึ้นเล็กน้อยหาใช่เป็นผู้เสี่ยงโชคแห่งการได้หรือเสียในการออกสลากไม่ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์.