แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอยู่ในลักษณะ 6 หมวดที่ 3 ส่วนที่ 2 ว่าด้วยความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งหมายถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีว่าคยามรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีจะตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายใดเพียงใด อันเป็นดุลพินิจของศาลส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มก่อนที่จะรับคำร้องขอไว้พิจารณาอันเป็นการสั่งชั้นตรวจรับคำร้องขอของผู้ร้องตามมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมีทุนทรัพย์ 500,000 บาท แต่ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลมาในจำนวนทุนทรัพย์เพียง 220,000 บาท อันถือว่าคำร้องขอนั้นมิได้ปิดแสตมป์สมบูรณ์ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ คือ เสียค่าขึ้นศาลให้ครบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นก็ย่อมมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอนั้น คำสั่งไม่รับคำคู่ความเช่นนี้ ผู้ร้องอุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227,228,247
ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะร้องขอ ซึ่งเท่ากับสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอนาถาของผู้ร้อง แล้วสั่งต่อไปว่า ถ้าผู้ร้องประสงค์จะดำเนินคดีเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวต่อไป ก็ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายในกำหนด 15 วัน ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดก็ให้ถือว่าทิ้งคำร้อง และสั่งให้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มผู้ร้องมิได้นำค่าขึ้นศาลมาชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าให้ถือว่าทิ้งคำร้องนั้นมีผลแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่า ทิ้งคำร้อง เป็นการคลาดเคลื่อนผลก็เท่ากับศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้องนั่นเอง ผู้ร้องมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้าย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นสั่งว่าเรื่องนี้ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้เคยยื่นคำร้องมาแล้ว ขอให้ถอนการยึด ขณะนี้ผู้ร้องยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฉะนั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์จะมายื่นคำร้องขัดทรัพย์อีกย่อมไม่ได้ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์เสีย ค่าคำร้องให้เป็นพับ ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ก็ต้องสั่งยกคำร้องขอขัดทรัพย์อย่างคนอนาถาเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นก้าวล่วงข้ามไปสั่งยกคำร้องขัดทรัพย์โดยผู้ร้องขัดทรัพย์ยังไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและไม่ถูกต้องตามกฎหมายอันชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้เพิกถอนการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบเกี่ยวกับผู้ร้องขัดทรัพย์ แล้วพิจารณาสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖ วรรค ๓ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นการขัดทรัพย์ซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๓ วรรค ๒(๑) คำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูลที่จะร้องขอ ถ้าผู้ร้องประสงค์จะดำเนินคดีเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวต่อไป ก็ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายในกำหนด ๑๕ วัน ถ้าไม่ชำระภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าทิ้งคำร้อง ต่อมาเจ้าหน้าที่การศาลรายงานว่าผู้ร้องขอชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้เมื่อทำการยึดเป็นจำนวนราคา ๒๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นยอมชำระตามระเบียบ ศาลชั้นต้นสั่งว่า “ตามคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๑๖ ประกอบกับสัญญาท้ายคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องขัดทรัพย์อ้างว่าซื้อที่ดินที่โจทก์นำยึดราคา ๕๐๐,๐๐ บาท จึงเท่ากับผู้ร้องยืนยันว่าราคาทรัพย์ในชั้นร้องขัดทรัพย์นี้มีราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ร้องขัดทรัพย์ภายในกำหนดเวลาเดิม”
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลในจำนวนทุนทรัพย์ ๕๐๐,๐๐๐ บาทนั้น เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ ฉะนั้น เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้พิพากษา หรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสิน ผู้ต้องจึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖(๑) ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องอุทธรณ์ฎีกาได้ตามมาตรา ๑๖๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะศาลชั้นต้นได้คำนวณให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลจำนวนทุนทรัพย์ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ยังไม่เป็นการถูกต้อง ต้องถือเอาจากราคาทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาณราคาไว้ คือ ๒๒๐,๐๐๐บาท นั้น บทกฎหมายที่ผู้ร้องอ้างไม่ตรงกรณีเรื่องนี้ เพราะมาตรา ๑๖๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอยู่ในลักษณะ ๖ หมวดที่ ๓ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีว่าความของผู้ร้องรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีจะตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายใดเพียงใด อันเป็นดุลพินิจของศาล ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มกอ่นที่จะรับคำร้องขอไว้พิจารณา อันเป็นการสั่งชั้นตรวจรับคำร้องขอของผู้ร้องตามมาตรา ๑๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมีทุนทรัพย์ ๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลมาในจำนวนทุนทรัพย์เพียง ๒๒๐,๐๐๐ บาท อันถือว่าคำร้องขอนั้นมิได้ปิดแสตมป์สมบูรณ์ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ คือ เสียค่าขึ้นศาลให้ครบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นก็ย่อมมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอนั้น คำสั่งไม่รับคำคู่ความเช่นนี้ ผู้ร้องอุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๗,๒๒๘,๒๔๗ ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะร้องขอ ซึ่งเท่ากับสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอนาถาของผู้ร้อง แล้วสั่งต่อไปว่า ถ้าผู้ร้องประสงค์จะดำเนินคดีเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวต่อไป ก็ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายในกำหนด ๑๕ วัน ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดก็ให้ถือว่าทิ้งคำร้อง และสั่งให้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มผู้ร้องมิได้นำค่าขึ้นศาลมาชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าให้ถือว่าทิ้งคำร้องนั้นมีผลแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่า ทิ้งคำร้อง เป็นการคลาดเคลื่อนผลก็เท่ากับศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้องนั่นเอง ผู้ร้องมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ วรรคท้าย ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ราคาที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกะประมาณไว้ ๒๒๐,๐๐๐ บาท เป็นราคาปานกลางและเป็นราคาที่ดินปัจจุบันยิ่งกว่าราคาในขณะที่ผู้ร้องซื้อ ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขัดทรัพย์คดีนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว และได้ชำระค่าธรรมเนียมในทุนทรัพย์ ๒๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งศาลชั้นต้นก็เคยได้รับคำร้องไว้แล้ว แต่ครั้งนี้กลับมาสั่งเป็นอย่างอื่น เป็นการคลาดเคลื่อนนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และเห็นว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาณราคาที่ดินที่ทำการยึดได้กระทำโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบราชการ ซึ่งอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงได้ แต่ตามคำร้องขอของผู้ร้องปรากฏชัดแจ้งว่าผู้ร้องได้ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาในราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้ขายได้รับเงินไปถูกต้องแล้ว เมื่อไม่มีพฤติการณ์แสดงให้เป็นเป็นอย่างอื่น ย่อมถือได้ว่าราคาที่แท้จริงของที่ดินทั้งสองแปลงนั้นคือ ๕๐๐,๐๐๐ บาท การที่ศาลชั้นต้นสั้งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์สินที่พิพาท ๕๐๐,๐๐๐ บาทจึงเป็นการชอบ
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง
(จันทร์ ระรวยทรง แผ้ว ศิวะบวร พยนต์ ยาวะประภาษ)