คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5567/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าของเดิมได้สิทธิภารจำยอมโดยการใช้ติดต่อกันมากว่า10ปีเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินมาจากเจ้าของเดิมภารจำยอมย่อมตกแก่โจทก์ด้วยเช่นกันเพราะเป็นการได้มาหลังจากที่ภารจำยอมนั้นเกิดมีขึ้นแล้วถึงหากโจทก์จะมีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกทางหนึ่งแต่ก็ต้องผ่านที่ดินของผู้อื่นก็ไม่ทำให้ภารจำยอมในการใช้ทางพิพาทสูญสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 3433 เนื้อที่ 2 งาน 93 ตารางวาทิศเหนือติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2186 เนื้อที่ 2 งาน 40 ตารางวาซึ่งมีชื่อจำเลยและนายชลอถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองมีทางกว้าง 6 เมตร ยาว 16 เมตร ซึ่งโจทก์ทั้งสองใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศเหนือ ทางดังกล่าวนี้เจ้าของที่ดินเดิมได้กันส่วนเป็นทางเข้าออกและเมื่อตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับนายชลอก็ได้กันส่วนให้เป็นทางเข้าออกนับถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 60 ปีเศษแล้ว และเป็นทางภารจำยอมโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยได้ทำรั้วปิดกั้นและปลูกต้นไม้ในทางดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้ทางดังกล่าวได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2186 เฉพาะส่วนกว้างประมาณ 6 เมตร ยาว 16 เมตร เป็นทางภารจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนรั้วไม้และต้นไม้ที่นำมาปลูกไว้ในทางพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า ทุกวันนี้โจทก์ทั้งสองสามารถเดินเข้าสู่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้โดยเข้าทางสาธารณประโยชน์ด้านทางทิศตะวันออกแล้วเลียบชายฝั่งแม่น้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทในโฉนดที่ดินเลขที่ 2186ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 16 เมตร ตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3433 ให้จำเลยรื้อถอนรั้วไม้และต้นไม้ออกจากทางดังกล่าว คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3433 ตำบลรอบเมือง (กระจะ)อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยซื้อจากนางไข่ บัวขาวเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 ส่วนจำเลยกับนายชลอเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2186 โดยร่วมกันซื้อมาจากนายบุญยิ่ง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2531 ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดต่อกัน โดยทิศเหนือของที่ดินโจทก์อยู่ติดกับทิศใต้ที่ดินจำเลย เมื่อซื้อมาแล้วจำเลยกับนายชลอแบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัด โดยนายชลอครอบครองด้านทิศตะวันออก จำเลยครอบครองด้านทิศตะวันตกระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยกับนายชลอได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดตามส่วนที่ครอบครอง ทางพิพาทอยู่ในที่ดินส่วนของจำเลยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2533 จำเลยปิดกั้นทางพิพาททำให้โจทก์ทั้งสองเข้าออกไม่ได้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ทางพิพาทโดยได้รับสิทธิภารจำยอมเพียงใด หรือไม่ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ทางพิพาทมีอยู่นานมาแล้วโดยเจ้าของเดิมก่อนที่จะขายให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปีไม่เคยขออนุญาตใคร และใช้ทางพิพาทมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายการใช้ทางพิพาทจึงมีลักษณะเป็นการใช้อย่างสงบและเปิดเผยโดยเจตนาให้เกิดสิทธิภารจำยอม เจ้าของเดิมได้สิทธิภารจำยอมโดยการใช้ติดต่อกันมากว่า 10 ปี เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินมาจากเจ้าของเดิมภารจำยอมย่อมตกแก่โจทก์ทั้งสองด้วยเช่นกัน เพราะเป็นการได้มาหลังจากที่ภารจำยอมนั้นเกิดมีขึ้นแล้วถึงหากโจทก์ทั้งสองจะมีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกทางหนึ่งแต่ก็ต้องผ่านที่ดินของผู้อื่น ไม่ทำให้ภารจำยอมในการใช้ทางพิพาทสูญสิ้นไป
ส่วนปัญหาว่า ทางพิพาทมีความยาวเพียงใดนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทโดยระบุว่าทางยาวประมาณ 16 เมตรซึ่งเป็นการกะความยาวโดยประมาณ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางพิพาทมีความยาว 18 เมตร แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองขอมา 16 เมตร จึงกำหนดความยาวให้ 16 เมตร ตามขอนั้นอาจมีปัญหาว่าความยาวของทางพิพาทที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นเมื่อวัดจากที่ดินโจทก์ทั้งสองแล้วจะยาวไปจดทางกระบือหรือทางสาธารณะหรือไม่ซึ่งอาจเกิดปัญหาในชั้นบังคับคดีได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรระบุให้ชัดแจ้งโดยให้จำเลยเปิดทางพิพาทจากที่ดินโจทก์ทั้งสองไปจนจดทางกระบือหรือทางสาธารณะซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 2186 ขนาดกว้าง 3 เมตร ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3433 ยาวตลอดแนวจากที่ดินโจทก์ทั้งสองไปจดทางสาธารณะด้านทิศเหนือ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share