คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295,83 ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเหตุคดีนี้เกิดจากผู้เสียหายเริ่มก่อเหตุก่อนและสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันกับจำเลยทั้งสาม ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้องเช่นนี้ การที่โจทก์อุทธรณ์มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า คดีนี้การสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องความผิดอาญาแผ่นดินประเด็นเรื่องผู้เสียหายจึงไม่ใช่ประเด็นที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นเหตุให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องเดิม ขอให้ยกกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคดีของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดีนั้น ถือได้ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาและยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงแสดงไว้ชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ในคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวนั้น พนักงานสอบสวนมีอำนาจทำการสอบสวนได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบดังนั้นแม้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายก่อเหตุและสมัครใจวิวาทกับจำเลยทั้งสามอันมีผลทำให้ผู้เสียหายมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายก็ตามพนักงานอัยการโจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเหตุคดีนี้เกิดจากผู้เสียหายเริ่มก่อเหตุก่อนและสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันกับจำเลยทั้งสาม ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำพิพากษานั้น กฎหมายได้ระบุไว้ชัดแจ้งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 แต่เหตุที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดมิใช่เหตุที่ระบุไว้ในบทกฎหมายดังกล่าว จึงจะต้องทำคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นคำสั่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 21(2) เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเป็นคำพิพากษา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบและต้องถือว่าเป็นคำสั่งเพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องเดิมและคดีนี้ได้มีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องความผิดอาญาแผ่นดิน ประเด็นเรื่องผู้เสียหายจึงไม่ใช่ประเด็นที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นเหตุให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องเดิมเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุน ขอให้ยกกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคดีของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ จะต้องปรากฏเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา แต่โจทก์มิได้บรรยายถึงเหตุดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้ง ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 83 ซึ่งเป็นความผิดที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เหตุคดีนี้เกิดจากผู้เสียหายเริ่มก่อเหตุก่อนและสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันกับจำเลยทั้งสาม ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้องเช่นนี้ การที่โจทก์อุทธรณ์มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า คดีนี้มีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องความผิดอาญาแผ่นดินประเด็นเรื่องผู้เสียหายจึงไม่ใช่ประเด็นที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นเหตุให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องเดิม ขอให้ยกกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคดีของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดีนั้นเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา และยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงแสดงไว้ชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนแต่อย่างใด และศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวนั้น พนักงานสอบสวนมีอำนาจทำการสอบสวนได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายก่อเหตุและสมัครใจวิวาทกับจำเลยทั้งสาม อันมีผลทำให้ผู้เสียหายมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายก็ตาม พนักงานอัยการโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องหาใช่ไม่มีอำนาจฟ้องดังคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา สมควรสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share