คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนเบิกความว่าได้สอบถามจำเลยปรากฏว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน จำเลยไม่นำสืบหักล้างกลับ เบิกความตอบคำถามค้านเจือสมว่า จำเลยไม่เคยมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน ไว้ในครอบครอง ถือว่าโจทก์ได้นำสืบแล้ว แม้ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็น ของกลางยืนยันพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวก็เพียงพอฟังลงโทษจำเลย ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ แต่อย่างไร ก็ตามเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า อาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้ รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคสามเท่านั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,371, 80, 33, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 11 ปี 6 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ให้ยกฟ้อง คงจำคุกจำเลย 10 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาชั้นฎีกามีเพียงว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากนายโสภณ เชื้อเมืองพาน ประจักษ์พยานโจทก์ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ พยานเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นจ้องยิงศีรษะผู้เสียหาย 1 นัด ครั้นพยานกับพวกผู้เสียหายวิ่งหลบหนีก็มีเสียงปืนดังอีก 1 นัด และได้ความจากร้อยตำรวจตรีกิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ พนักงานสอบสวนซึ่งทำการสอบสวนต่อจากพนักงานสอบสวนคนอื่นว่า ในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาว่าจำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และสอบถามจำเลย ปรากฏว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ซึ่งในข้อนี้จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างแต่กลับเบิกความตอบคำถามค้านเจือสมว่าจำเลยไม่เคยมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว จึงถือว่าโจทก์ได้นำสืบแล้ว และแม้ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางยืนยันพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวก็เพียงพอฟังลงโทษจำเลยฐานนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสามเท่านั้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษจำคุก 6 เดือนรวมลงโทษทุกกระทงจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share