คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จากโจทก์ในราคา 66,384 บาทผ่อนชำระได้ 22,128 บาท แล้วผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อ คืนมาได้ หลังจากวันทำสัญญาเช่าซื้อแล้วถึง1 ปี 5 เดือนเศษ รถยนต์ คันที่เช่าซื้อ ย่อมทรุดโทรมเสื่อมราคาไปเพราะการใช้ของจำเลยที่ 1 ราคาในขณะที่โจทก์ติดตาม ยึดคืนมาได้จึงต้องต่ำกว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ได้ นำออกขายทอดตลาดได้เงิน13,000 บาท เมื่อนำเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้วมารวมกับเงินที่โจทก์ได้จากการขายทอดตลาดแล้วยังต่ำ กว่าราคาเช่าซื้อ ประกอบกับตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยที่ 1 ต้อง รับผิดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆตลอดจนค่าเสื่อมราคาเมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อ จึงเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา และจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ให้แก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2525 จำเลยที่ 1เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา 66,384 บาท ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด งวดละ 1,844 บาท รวม 36 งวด จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13-17 เกินกว่าสองงวดติดต่อกัน โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526 จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดในเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเป็นเวลา 5 งวด เป็นเงิน 9,220 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2526ถึงวันฟ้อง รวมระยะเวลา 17 เดือน เป็นดอกเบี้ย 2,458 บาท รวมเป็นเงิน 11,678 บาท ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องติดตามรถคืน 1,400 บาทรถที่ยึดคืนมีสภาพชำรุดมาก โจทก์ประมูลขายได้เพียง 13,000 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ขาดทุนเป็นเงิน 31,256 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 11,678 บาทชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 31,256 บาท ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 44,334 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระโจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีโดยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 12,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระโจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า รถคันที่เช่าซื้อโจทก์ตีราคาไว้ 30,000 บาท เมื่อนำเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1ชำระให้โจทก์แล้ว 22,128 บาท รวมกับเงินที่โจทก์ขายทอดตลาดรถคันที่เช่าซื้อได้อีก 13,000 บาท ย่อมเกินราคารถคันที่เช่าซื้อโจทก์จึงไม่เสียหายแต่อย่างใดนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงราคาค่าเช่าซื้อรถคันที่เช่าซื้อไว้เป็นเงิน 66,384 บาท แต่ขณะที่โจทก์ติดตามยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนมาได้เป็นเวลาภายหลังจากวันทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 มาแล้วถึง 1 ปี 5 เดือนเศษ รถยนต์คันที่เช่าซื้อย่อมทรุดโทรมเสื่อมราคาไปเพราะการใช้ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ราคารถคันที่เช่าซื้อในขณะที่โจทก์ติดตามยึดรถคืนมาได้ จึงต้องมีราคาต่ำกว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อ เมื่อพิจารณานำเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์มาแล้ว 22,128 บาท มาคำนวณรวมกับเงินที่โจทก์ขายทอดตลาดรถคันที่เช่าซื้อได้อีก 13,000 บาทก็ยังต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันไว้ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 เป็นเงินถึง 31,256 บาทประกอบกับตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ระบุให้จำเลยที่ 1ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ตลอดจนค่าเสื่อมราคาเมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวด้วยจึงเห็นได้ชัดว่า โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าติดตามรถยนต์จำนวน 1,400 บาทแก่โจทก์นั้น ปรากฏว่าตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินจำนวนนี้ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ข้อนี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 11,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share