คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมียาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและยาสูบนั้นไม่ได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย กับการที่จำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นไว้เพื่อขาย เป็นการกระทำที่มีเจตนาในผลอย่างเดียวกันคือ การหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2530 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 มีนาคม 2530 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ซื้อ รับไว้ซึ่งบุหรี่วินสตัน 500 ซองราคา 6,155 บาท บุหรี่มาร์โบโร่ 80 ซอง ราคา 961.60 บาท และบุหรี่ดันฮิล 80 ซอง ราคา 1,232 บาท รวมราคา 8,348.60 บาทซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจากต่างประเทศเข้ามาในพระราชอาณาจักรไทยและช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่าย ช่วยซ่อนเร้นซึ่งของดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น จำนวน 8,348.60 บาท ซึ่งรวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงินจำนวน 10,853.18 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2530 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยซึ่งมิใช่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้มีบุหรี่ซิกาแรตตราวินสตัน500 ซอง หนัก 10,000 กรัม ตรามาร์โบโร่ 80 ซอง หนัก 1,600 กรัมและตราดันฮิล 80 ซอง หนัก 1,920 กรัม รวมทั้งสิ้น 660 ซองหนักรวม 13,520 กรัม ไว้ในครอบครองโดยบุหรี่ซิกาแรตทั้งหมดดังกล่าวมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ คิดเป็นค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดรวม 6,760 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และได้มีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศ ตราวินสตัน 500 ซอง หนัก10,000 กรัม ตรามาร์โบโร่ 80 ซอง หนัก 1,600 กรัม และตราดันฮิล80 ซอง หนัก 1,920 กรัม รวมทั้งสิ้น 660 ซอง หนัก 13,520 กรัมโดยยาสูบดังกล่าวมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบซึ่งจะต้องปิดแสตมป์ยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศ คิดเป็นค่าแสตมป์ยาสูบดังกล่าวจะต้องปิดรวม6,760 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4,19, 24, 44, 49, 50 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91ริบของกลางทั้งหมดเป็นของกรมสรรพสามิต จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ กับพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509มาตรา 4, 19, 24, 44, 49, 50 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ปรับ43,312.72 บาท จำคุก 1 ปี ลงโทษฐานมีบุหรี่ยังมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 49 ปรับ 67,600 บาทลงโทษฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่ต่างประเทศที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 ปรับ 101,400 บาทรวมเป็นจำคุก 1 ปี ปรับ 212,312.72 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำคุก6 เดือน ปรับ 106,156.36 บาท ริบของกลางทั้งหมด ไม่ชำระค่าปรับกักขังแทน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90เพียงบทเดียว จำคุก 1 ปี ปรับ 43,312.72 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือนปรับ 21,656.36 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 3 กรรมตามฟ้อง มิใช่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยมียาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามกฎหมายและยาสูบนั้นไม่ได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย กับการที่จำเลยมียาสูบจำนวนเดียวกันนั้นไว้เพื่อขาย เป็นการกระทำที่มีเจตนาในผลอย่างเดียวกันคือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share