แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้อง และผู้ร้องได้รับหนังสือเมื่อวันที่10 มีนาคม 2531 ครบกำหนดที่ผู้ร้องจะต้องคัดค้านต่อศาลภายใน14 วัน คือวันที่ 24 มีนาคม 2531 คำร้องของผู้ร้องจึงตรงตามนัยพ.ร.บ. ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119 วรรคสาม แต่เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องคัดค้าน ในวันที่ 8 เมษายน 2531 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกินกำหนดเวลาที่จะต้องยื่นคำคัดค้าน และการคัดค้านไม่ชอบถือว่าไม่มีคำร้องคัดค้านยื่นต่อศาล การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องคัดค้าน ในวันที่ 29 เมษายน 2531 เพื่อให้เห็นว่าผู้ร้องยื่นคำคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายนั้น จึงไม่มีคำร้องคัดค้านที่จะต้องแก้ไข.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2531 ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของสหกรณ์การเกษตรชาวไร่ยาสูบลานนาไทย จำกัดลูกหนี้ (จำเลย) ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2531 ยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้เงินทดรองค่าใบยาแห้งจำนวน 101,259 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยให้ผู้ร้องนำเงินไปชำระให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือซึ่งครบกำหนดในวันที่24 มีนาคม 2531 ผู้ร้องจึงมาร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นหนี้จำเลย เนื่องจากสัญญาที่ทำขึ้นคู่สัญญามีเจตนาลวงเพื่อเป็นการเพิ่มทรัพย์สินให้แก่จำเลยในรูปลูกหนี้ทางการค้า ไม่ประสงค์จะผูกพัน และหนี้สินดังกล่าวขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163, 165 ประกอบมาตรา 172, 181
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนและมีคำสั่งว่า ผู้ร้องคัดค้านการยืนยันหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกิน 14 วัน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119 วรรคสอง(ที่ถูกเป็นวารสาม) จึงไม่รับคำคัดค้าน คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2531 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องคัดค้านว่า เนื่องจากผู้ร้องพิพม์คลาดเคลื่อนเพราะเข้าใจผิดเกี่ยวกับวันที่ผู้ร้องรับหนังสือ ไม่ใช่วันที่ 10 มีนาคม 2531 ขอแก้ไขเป็นว่า วันที่ 26 มีนาคม 2531 มีเจ้าหน้าที่นำหนังสือไปปิดไว้ ซึ่งจะครบกำหนด 14 วัน ในวันที่ 10 เมษายน 2531 ฉะนั้นคำร้องคัดค้านของผู้ร้องที่ยื่นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2531 จึงไม่พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลสั่งไม่รับคำคัดค้าน จึงไม่มีคำร้องคัดค้านที่จะต้องแก้ไข ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด 14วัน นับแต่ได้รับหนังสือทวงหนี้ ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) อยู่ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเด็ดขาด ผู้ร้องมายื่นปฎิเสธหนี้ต่อศาล แต่ศาลชั้นต้นสาั่งไม่รับเสียแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอแก้คำร้องได้อีก พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อผู้ร้องมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด14 วัน นับแต่ได้รับหนังสือทวงหนี้ ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) อยู่ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเด็ดขาด ผู้ร้องมายื่นปฏิเสธหนี้ต่อศาล แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับเสียแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอแก้คำร้องได้อีก พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้อง และผู้ร้องได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2531 ครบกำหนดที่ผู้ร้องจะต้องคัดค้านต่อศาลภายใน 14 วัน คือวันที่ 24 มีนาคม2531 คำร้องของผู้ร้องจึงตรงตามนับพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสาม แต่เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องคัดค้านในวันที่ 8 เมษายน 2531 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกินกำหนดเวลาที่จะต้องยื่นคำคัดค้าน และการยื่นคำคัดค้านไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องคัดค้าน จึงชอบด้วยกฎหมายและถือว่าไม่มีคำร้องคัดค้านที่ยื่นต่อศาล ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องคัดค้าน ในวันที่ 29 เมษายน 2531 เพื่อให้เห็นว่าผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายนั้น จึงไม่มีคำร้องคัดค้านที่จะต้องแก้ไข ที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำร้องคัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยในผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.