คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11695-11698/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อความเสียหายอันเกิดแก่สินค้าที่จำเลยที่ 1 รับขนแก่ผู้เสียหาย และ ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับแก่ความรับผิดตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนด้วย ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย สินค้าเกิดความเสียหายหลังจากจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่ ก. ขนส่งทางอากาศยานกรุงเทพไปถึงท่าอากาศยานเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเมื่อผู้รับตราส่งได้รับสินค้าจึงพบเห็นความเสียหายของสินค้า กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าวันที่ผู้รับตราส่งพบความเสียหายของสินค้าเป็นวันที่เกิดความเสียหายหรือวันวินาศภัย
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ไปรับมอบสินค้าจากโรงงานโจทก์และขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ ว. ที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มียานพาหนะเป็นของตนเอง จึงว่าจ้าง ก. เป็นผู้ขนส่งแทน จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งและ ก. เป็นผู้ขนส่งคนอื่นซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาทไปอีกทอดหนึ่ง แม้ความเสียหายของสินค้ามิได้เกิดขึ้นระหว่างที่สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อยู่ในความดูแลของ ก. จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท
แม้สินค้าแต่ละกล่องมีน้ำหนักมากกว่า 600 กิโลกรัม แต่กล่องกระดาษมีขนาด 105 ? 98 ? 108 เซนติเมตร พร้อมฝาปิด มีความหนาของกระดาษ 1.5 เซนติเมตร กล่องที่บรรจุสินค้าพิพาทแล้วจะปิดฝากล่องแล้วผนึกด้วยผ้าเทปกาวรอบกล่องอย่างแน่นหนา รัดรอบกล่องตามแนวตั้งและแนวนอนด้วยสายรัดพลาสติก แนวละ 2 เส้น กล่องสินค้าพิพาททุกกล่องจะวางบนแผงไม้รองสินค้า 1 แผง และยึดติดกันด้วยสายรัดพลาสติกดังกล่าว นับว่าการบรรจุและหีบห่อสินค้าพิพาทมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอและเหมาะสมแก่การขนส่งทางอากาศ
การซื้อขายสินค้าตามฟ้องเป็นสัญญาซื้อขายในเทอม DDU (Delivery Duty Unpaid) หมายความว่า ผู้ขายมีหน้าที่นำสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ณ ที่อยู่ของผู้ซื้อ ยกเว้นหน้าที่ในการนำเข้าของสินค้าท่าปลายทาง ดังนั้นราคาสินค้ารวมค่าระวางขนส่งทั้งหมดและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรนำสินค้าส่งออก และผู้ซื้อจะชำระราคาเมื่อได้รับมอบสินค้าแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรส่งออกสินค้า ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ผู้ขายที่จะต้องไปดำเนินการ การที่โจทก์ไปดำเนินพิธีศุลกากรนำเข้าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งด้วย โดยโจทก์มิได้นำสืบว่ามีข้อตกลงในสัญญาซื้อขายให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวด้วย โจทก์จึงชอบที่จะไปทวงถามให้ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะมูลค่าของสินค้าพิพาทที่เสียหายเท่านั้น
ความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามสัญญารับขนของในฐานะผู้ขนส่งมิใช่ความรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเมื่อถูกทวงถามแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดแทนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ต่อเมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคดีเท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองทั้งสี่สำนวนขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 337,314.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 293,316.78 บาท เงินจำนวน 337,808.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 294,008.76 บาท เงินจำนวน 313,779.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 273,928.55 บาท และเงินจำนวน 933,063.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 815,292.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอันดับแรกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำนวนสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อความเสียหายอันเกิดแก่สินค้าที่จำเลยที่ 1 รับขนแก่บุคคลผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับแก่ความรับผิดตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนด้วยบัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย คดีนี้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าของโจทก์ที่ได้เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 รวม 4 เที่ยว จากท่าอากาศยานกรุงเทพไปให้บริษัทวัตสัน ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้รับตราส่งที่ประเทศออสเตรเลีย เที่ยวแรกออกเดินทางวันที่ 16 พฤษภาคม 2548 ไปถึงผู้รับตราส่งวันที่ 18 เดือนเดียวกัน เที่ยวที่สองออกเดินทางวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ไปถึงผู้รับตราส่งวันที่ 26 เดือนเดียวกัน เที่ยวที่สามออกเดินทางวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ไปถึงผู้รับตราส่งวันที่ 13 เดือนเดียวกัน และเที่ยวที่สี่ออกเดินทางวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ไปถึงผู้รับตราส่งวันที่ 18 เดือนเดียวกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า สินค้าทั้งสี่เที่ยวเกิดความเสียหายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำการขนส่งจากท่าอากาศยานกรุงเทพไปถึงท่าอากาศยานเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเมื่อผู้รับตราส่งได้รับสินค้าแต่ละเที่ยวจึงพบเห็นความเสียหายของสินค้า กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าวันที่ผู้รับตราส่งพบความเสียหายของสินค้าเป็นวันที่เกิดความเสียหายหรือวันวินาศภัย วันวินาศภัยของสินค้าเที่ยวแรกคือวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 สินค้าเที่ยวที่สองวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 สินค้าเที่ยวที่สามวันที่ 13 มิถุนายน 2548 และสินค้าเที่ยวที่สี่วันที่ 18 มิถุนายน 2548 โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของสินค้าเที่ยวแรกเป็นสำนวนแรกวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 เที่ยวที่สองถึงเที่ยวที่สี่เป็นสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่วันที่ 21 พฤษภาคม 2550 วันเดียวกัน ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำนวนจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังไม่พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ทั้งสี่สำนวนจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวนสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายมาจนครบถ้วนแล้ว เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียเลยโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ตกลงขายสินค้าประเภทอุปกรณ์เบรกรถยนต์ (Original Equipment for Motor Vehicle Application Brake Lining) ให้แก่บริษัทวัตสัน ออโตโมทีฟ จำกัด ประเทศออสเตรเลีย เป็นการซื้อขายในเทอม DDU หมายความว่า ค่าสินค้ารวมค่าระวางและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรส่งออกรวม 4 ครั้ง โดยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าทั้งสี่ครั้งในเงื่อนไข Door to Door และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 โดยมีข้อตกลงว่าหากเกิดความเสียหายหรือสูญหายแก่สินค้าทั้งสี่ครั้ง จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 ครั้งละไม่เกิน 20,000,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าแต่ละครั้งจากโจทก์ จำเลยที่ 1 มอบหมายให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ขนส่งสินค้าทั้งสี่ครั้งทางเครื่องบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพไปยังท่าอากาศยานเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในการขนส่งครั้งแรกและครั้งที่สอง สินค้าแต่ละครั้งมีจำนวน 23,400 ชิ้น ราคา 1,097,694 เยน บรรจุในกล่อง 2 กล่อง ผู้รับตราส่งได้รับสินค้าเมื่อวันที่ 18 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 ปรากฏว่าแต่ละครั้งมีสินค้า 1 กล่อง หีบห่อฉีกขาดมีรอยบุบยุบ มีร่องรอยการถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง สินค้าภายในกล่องจำนวน 11,700 ชิ้น มีรอยขูดขีด บุบยุบ ไม่อาจซ่อมแซมและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้ ครั้งที่สามสินค้ามีจำนวน 35,100 ชิ้น ราคา 1,646,541 เยน บรรจุอยู่ในกล่อง 3 กล่อง และครั้งที่สี่สินค้ามีจำนวน 58,500 ชิ้น ราคา 2,744,235 เยน บรรจุอยู่ในกล่อง 5 กล่อง ผู้รับตราส่งได้รับสินค้าเมื่อวันที่ 13 และวันที่ 18 มิถุนายน 2548 ตามลำดับ ปรากฏว่า ครั้งที่สามสินค้าเสียหาย 1 กล่อง จำนวน 11,700 ชิ้น น้ำหนัก 655 กิโลกรัม ครั้งที่สี่สินค้าเสียหาย 3 กล่อง จำนวน 35,100 ชิ้น น้ำหนักรวม 1,950 กิโลกรัม ลักษณะความเสียหายเป็นเช่นเดียวกับสองครั้งแรก ความเสียหายของสินค้าทั้งสี่ครั้งเกิดขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่ก่อนจะส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าอันเกิดในระหว่างการขนส่งทั้งสี่ครั้งหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ไปรับมอบสินค้าจากโรงงานของโจทก์ และทำการขนส่งนำสินค้าไปส่งมอบให้แก่บริษัทวัตสัน ออโตโมทีฟ จำกัด ที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มียานพาหนะเป็นของตนเอง จำเลยที่ 1 จึงว่าจ้างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้งแทน ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งและบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ขนส่งคนอื่น ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาทนั้นไปอีกทอดหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 617 บัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของสูญหาย หรือบุบสลาย หรือส่งชักช้า อันเกิดแต่ความผิดของผู้ขนส่งคนอื่น หรือบุคคลอื่นซึ่งตนหากได้มอบหมายของนั้นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้ง มิได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อยู่ในความดูแลของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ขนส่งคนอื่น จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้ง ในฐานะเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้ง เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ส่งหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้และนายชัยยงค์ กรรมการจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ผู้ส่งบรรจุหีบห่อสินค้าพิพาทไม่เหมาะสมและถูกต้อง เพราะสินค้าพิพาทมีน้ำหนักมาก โจทก์ควรใช้วัสดุหีบห่อที่แข็งแรงเพียงพอต่อสภาพและน้ำหนักของสินค้า แต่โจทก์กลับใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษซึ่งย่อมเล็งเห็นผลว่าสินค้าพิพาทอาจเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งได้ ส่วนโจทก์มีนายสมเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายผลิตของโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า การบรรจุสินค้าของโจทก์จะกระทำในลักษณะเดียวกันซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผ่านการอนุมัติจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว คือโจทก์จะนำสินค้าจำนวน 26 ชิ้น มาเรียงต่อกันเป็น 1 แถว จากนั้นนำสินค้าแต่ละแถวมาวางเรียงซ้อนกัน 5 ชั้น และผนึกในถุงพลาสติกปิดปากถุงเรียบร้อยจัดเป็นสินค้า 1 ห่อ จากนั้นนำมาบรรจุลงในกล่องกระดาษลูกฟูกบรรจุอยู่ภายในกล่องโดยจัดเรียงเป็น 3 แถว แถวละ 5 ห่อ เรียงซ้อนขึ้นไปสูง 6 ชั้น สินค้า 1 กล่อง จะมีสินค้าพิพาทบรรจุอยู่ทั้งหมด 90 ห่อ เต็มกล่อง ตามขั้นตอนการบรรจุหีบห่อ เห็นว่า นายชัยยงค์พยานจำเลยที่ 1 เบิกความลอย ๆ และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำเบิกความนายสมเกียรติตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า สินค้าพิพาทแต่ละกล่องจะมีน้ำหนักมากกว่า 600 กิโลกรัม แต่จากคำอธิบายและภาพถ่าย กล่องกระดาษมีขนาด 105 x 98 x 108 เซนติเมตร พร้อมฝาปิด มีความหนาของกระดาษ 1.5 เซนติเมตร กล่องที่บรรจุสินค้าพิพาทแล้วจะปิดฝากล่องแล้วผนึกด้วยผ้าเทปกาวรอบกล่องอย่างแน่นหนา รัดรอบกล่องตามแนวตั้งและแนวนอนด้วยสายรัดพลาสติก แนวละ 2 เส้น กล่องสินค้าพิพาททุกกล่องจะวางบนแผงไม้รองสินค้า 1 แผง และยึดติดกันด้วยสายรัดพลาสติกดังกล่าว จึงนับว่าการบรรจุและหีบห่อสินค้าพิพาทมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอและเหมาะสมแก่การขนส่งทางอากาศ ฟังไม่ได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้ง เกิดขึ้นเพราะความรับผิดของโจทก์ผู้ส่ง จำเลยที่ 1 จึงยังคงรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้ง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้งมีเพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าพิพาททั้งสี่เที่ยวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งเป็นเงิน 208,561.86 บาท 208,561.86 บาท 208,561.86 บาท และ 625,685.58 บาท ตามลำดับ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบชดใช้ให้แก่โจทก์ ส่วนค่าระวางการขนส่งที่ท่าต้นทางและปลายทางกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรส่งออกและนำเข้านั้น เป็นค่าใช้จ่ายอันนอกเหนือจากมูลค่าของสินค้าที่เสียหาย จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งนั้น เห็นว่า การซื้อขายสินค้าพิพาททั้งสี่ครั้งตามฟ้องเป็นสัญญาซื้อขายในเทอม DDU (Delivery Duty Unpaid) ซึ่งหมายความว่า ผู้ขายมีหน้าที่นำสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ณ ที่อยู่ของผู้ซื้อ ยกเว้นหน้าที่ในการนำเข้าของสินค้าท่าปลายทาง ดังนั้น ราคาสินค้ารวมค่าระวางขนส่งทั้งหมดและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรนำสินค้าส่งออกและผู้ซื้อจะชำระราคาเมื่อได้รับมอบสินค้าแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรส่งออกสินค้า ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ผู้ขายที่จะต้องไปดำเนินการ การที่โจทก์ไปดำเนินพิธีศุลกากรนำเข้าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งด้วย โดยโจทก์มิได้นำสืบว่ามีข้อตกลงในสัญญาซื้อขายให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวด้วย โจทก์จึงชอบที่จะไปทวงถามให้ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งรับผิดชอบ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะมูลค่าของสินค้าพิพาทที่เสียหายทั้งสี่ครั้งเท่านั้น ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่พบความเสียหายของสินค้าพิพาทในแต่ละครั้งหรือวันวินาศภัยนั้น เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามสัญญารับขนของในฐานะผู้ขนส่ง มิใช่ความรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อถูกทวงถามแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดแทนจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ต่อเมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันฟ้องคดีของแต่ละสำนวนเท่านั้น สำนวนแรกฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 สำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ฟ้องวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 วันเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของความเสียหายของสินค้าพิพาทในครั้งแรกจำนวน 208,561.86 บาท นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2550 และความเสียหายของสินค้าพิพาทครั้งที่สองถึงครั้งที่สี่รวม 1,042,809.30 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2550 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 208,561.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2550 และชำระเงินจำนวน 1,042,809.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในศาลฎีกา โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share