คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยชอบ ย่อมได้รับสัญชาติไทยและไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แม้มารดาของบุคคลเหล่านั้นจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองก็ตาม.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายถึก เลวัน อันเกิดจากนางเฮือง แซ่เหงียน บิดามารดาของโจทก์จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2494 บิดาของโจทก์ทั้งสิบเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2492 โจทก์ทั้งสิบเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมีสัญชาติไทย จำเลยที่ 1 เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสิบในทะเบียนบ้านญวนอพยพ อันเป็นการโต้แย้งเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งสิบ ทำให้โจทก์ทั้งสิบเสียสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสองถอนชื่อโจทก์ทั้งสิบออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ
จำเลยทั้งสองให้การว่า บิดาของโจทก์ทั้งสิบเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีสัญชาติไทยจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสิบในทะเบียนบ้านญวนอพยพ โจทก์ทั้งสิบเป็นผู้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เอง ทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ทำบัตรประจำตัวญวนอพยพไว้ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทุกคนออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘โจทก์ทั้งสิบเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายถึก เลวันหรือแซ่เลวัน กับนางเฮือง แซ่เหงียนหรือแซ่เงียน นายถึกและนางเฮืองเป็นคนสัญชาติญวน นายถึกได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2492 มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เลขที่ 8/2492 ออกให้ ณ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2492 ส่วนนางเฮืองเป็นญวนอพยพต่อมานายถึกและนางเฮืองจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2494 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานีโจทก์ทุกคนเกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายถึก และได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3) ปัญหาแรกที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่นางเฮืองมารดาของโจทก์ทั้งสิบเป็นญวนอพยพโจทก์ทั้งสิบต้องถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 นั้น เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 บัญญัติว่า ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น…(3)ผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวให้ถอนสัญชาติไทยเฉพาะบุคคลที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือบุคคลที่มีมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น แต่โจทก์ทั้งสิบมีบิดาคือ นายถึก เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยชอบและมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวด้วย แม้นางเฮืองมารดาของโจทก์ทั้งสิบจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสิบก็มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสิบจึงไม่ถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว
สำหรับปัญหาต่อมาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นผู้ไปแจ้งต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานีขอทำทะเบียนบ้านญวนอพยพเอง และขอทำบัตรประจำตัวญวนอพยพด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสิบนั้นแม้โจทก์ทั้งสิบจะเป็นผู้แจ้งต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพด้วยตนเอง แต่โจทก์ทั้งสิบก็นำสืบว่าที่ไปแจ้งเพราะเกรงถูกจับกุม และแม้จะแจ้งด้วยความสมัครใจเพราะเข้าใจว่าตนเป็นญวนอพยพก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสิบถูกเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยระบุว่าเป็นญวนต่างด้าว ทั้งที่โจทก์ทั้งสิบมิได้ถูกเพิกถอนสัญชาติไทย ก็ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลญวนอพยพตลอดจนการจัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพดังกล่าวได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสิบแล้ว โจทก์ทั้งสิบจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ส่วนปัญหาสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีของโจทก์ทั้งสิบขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ตราบใดที่จำเลยทั้งสองยังมิได้ถอนชื่อของโจทก์ทั้งสิบออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพก็ถือว่าจำเลยทั้งสองยังโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสิบอยู่ตลอดมาฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share