คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเพิกเฉยไม่ยอมออกไปจากตึกแถวและที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าว และยังคงอยู่ในตึกแถวและที่ดินพิพาทนั้นตลอดมา จนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ อันเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่อง คดีของโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากตึกแถว และส่งมอบตึกแถวคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสองต่างชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวของโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองตึกแถวตามฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ หากโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องคดีโจทก์ก็ขาดอายุความเนื่องจากเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันขายฝาก และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่า เพราะเหตุใดจำเลยทั้งสองจึงละเมิดสิทธิของโจทก์ การละเมิดเกิดขึ้นตั้งแต่วัน เดือน ปีใด ทำให้จำเลยทั้งสองไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และหลงข้อต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา นางสาวพจวรรณ สิริรัตน์ ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวดังกล่าวเป็นของผู้ร้องสอด ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากตึกแถวพิพาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวของโจทก์

ผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

ผู้ร้องสอดและจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของผู้ร้องสอดที่ว่า “ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากนางอารีย์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 ครบกำหนดไถ่วันที่25 กุมภาพันธ์ 2539 นับแต่วันที่ขายฝากหรือนับจากวันที่ครบกำหนดไถ่ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้เกินกว่า 1 ปี คดีขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเพิกเฉยไม่ยอมออกไปจากตึกแถวและที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้ดำเนินการ และยังคงอยู่ในตึกแถวและที่ดินพิพาทตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ อันเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่อง คดีของโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share