คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ ค. ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อีกคนหนึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในผลแห่งละเมิดของ ค. ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้อง รับผิดต่อโจทก์เสียแล้ว ก็ไม่มีหนี้ที่จะให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดของ ค. จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารจากผู้มีชื่อ ระหว่างอยู่ในอายุคุ้มครองตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์กระบะไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้ขับรถถอยหลังด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถคันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 12,300 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้าง หรือตัวการของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วจึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 12,915 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 12,300 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ทราบว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีนายคำน้อย แสงวิชัย เป็นผู้ขับได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แต่เนื่องจากนายคำน้อย ไม่มีใบอนุญาตขับรถ จำเลยที่ 1 จึงลงชื่อในบันทึกยอมรับผิดแทนตามคำแนะนำของพนักงานของโจทก์ ที่อ้างว่าเพื่อเป็นหลักฐานในการอนุมัติสั่งซ่อมรถคันที่เสียหาย จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จริง แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาหลังเลิกงานแล้ว จึงมิใช่การกระทำในทางการที่จ้าง ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกินจำนวน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่นายคำน้อยลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อีกคนหนึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในผลแห่งละเมิดของนายคำน้อยดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหนี้ที่จะร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์โดยอ้างว่าต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของนายคำน้อยนั้นจึงเป็นการพิพากษานอกฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share