คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ผู้เสียหายนำเช็คไปสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคาร และเจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่มีหาใช่เป็นเรื่องธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นไม่ วันนั้นความผิดของจำเลยจึงยังไม่เกิด ความผิดของจำเลยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ผู้เสียหายนำเช็คเข้าเบิกเงินต่อธนาคาร และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
ออกเช็คครั้งเดียวสองฉบับ เป็นกรรมเดียวกัน ไม่ใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็ค ๒ ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ ๓,๐๐๐ บาทลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ มอบให้นางเอมอร อุพารกุล เป็นการชำระหนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๒ นางเอมอรนำเช็คทั้งสองฉบับนั้นไปเบิกเงินจากธนาคาร และในวันนั้นเองธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คด้วยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คให้ใช้เงินที่มีจำนวนสูงกว่าจำนวนที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะออกเช็คผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้ว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ จำคุก ๑ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า คดีขาดอายุความ
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ นั้น ถึงกำหนดวันสั่งจ่ายนางเอมอรนำเช็คไปสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่ายนางเอมอรจึงไปทวงถามจำเลย จำเลยขอผัดผ่อนตลอดมา จนเมื่อวันที่ ๑๐มิถุนายน ๒๕๑๒ จึงได้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยเห็นว่านางเอมอรได้นำเช็คไปเบิกเงินในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์๒๕๑๒ และทางธนาคารได้บอกว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายแล้วคดีจึงขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความนั้น คงจะหมายความว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๖ เรียกว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรานั้น
ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ซึ่งเป็นวันสั่งจ่ายของเช็คสองฉบับที่จำเลยมอบให้นางเอมอรผู้เสียหาย นางเอมอรเอาเช็คสองฉบับนั้นไปถามเจ้าหน้าที่ธนาคารว่ามีเงินตามเช็คหรือไม่ เจ้าหน้าที่ธนาคารว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่มีนางเอมอรจึงไปทวงถามจำเลย แต่จำเลยไม่มีให้ จนเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๒ นางเอมอรจึงนำเช็คสองฉบับนั้นเข้าเบิกเงินต่อธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย หลังจากนั้น ๒-๓ วัน นางเอมอรจึงไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดี
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า อันความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ นั้น เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๘/๒๕๐๓ ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ และนายเงาะ แสงใหญ่ โจทก์ นายอุปกรณ์ แก้วเจริญ จำเลย การที่นางเอมอรนำเช็คไปถามเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าเงินของจำเลยมีตามเช็คหรือไม่ เมื่อวันที่๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ และเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าไม่มีเงินนั้น เป็นการสอบถามกันเป็นทำนองส่วนตัวระหว่างนางเอมอรกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร หาใช่เป็นเรื่องที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นไม่ วันนั้นความผิดของจำเลยจึงยังไม่เกิดวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๒ นางเอมอรนำเช็คเข้าเบิกเงินต่อธนาคาร และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ความผิดของจำเลยเกิดขึ้นในวันนั้น นางเอมอรร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๒-๓ วันหลังจากนั้น จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปรากฏว่าจำเลยออกเช็คครั้งเดียวสองฉบับ เป็นกรรมเดียวกัน ไม่ใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ การปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ด้วย จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share