คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (7) ที่ใช้คำว่า “ยึด” ย่อมหมายถึงการอายัดด้วย การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ทำการอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก่อนที่ศาลมีคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อมูลหนี้ของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านจึงยื่นขอชำระหนี้ได้โดยชอบเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ผู้คัดค้านจึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ด้วย ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 90/60 ผู้คัดค้านไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้อีกต่อไป ผู้บริหารแผนชอบที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นเสียได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2546 ให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องว่า ตามข้อ 6.5.3 ของแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนจะต้องเจรจาตกลงกับบริษัทไทยออยล์ จำกัด เพื่อโอนขายหม้อน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบให้แก่บริษัทดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ผู้บริหารแผนดำเนินการเจรจาจนได้ข้อตกลงในระดับหนึ่งแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาซื้อขาย หม้อน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบดังกล่าวเป็นเครื่องจักรซึ่งจดทะเบียนไว้ต่อสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง แต่ก่อนที่ลูกหนี้จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่ 1/2545 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2545 ถึงอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ทำการอายัดหม้อน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบดังกล่าว รวม 6 เครื่อง โดยห้ามลูกหนี้ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกับบุคคลอื่น จนกว่าลูกหนี้จะชำระภาษีสรรพสามิตที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ นอกจากนั้นผู้คัดค้านได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่ 10/2544 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2544 ไปยังธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักนานาเหนือ อายัดเงินฝากของลูกหนี้ ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 000-1-41799-1 จำนวน 13,976,366.80 บาท การฟื้นฟูกิจการมีเจตนารมณ์ให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการอันจะส่งผลให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม กฎหมายล้มละลายจึงกำหนดให้เจ้าหนี้ที่มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งหมดของลูกหนี้ในคราวเดียว เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้ย่อมต้องผูกพันที่จะปฏิบัติตามแผนดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 มูลแห่งหนี้ของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนได้จัดกลุ่มให้เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการระบุในข้อ 6.2.6 ของแผน ซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วแผนย่อมผูกมัดผู้คัดค้าน แม้ผู้คัดค้านอายัดทรัพย์สินข้างต้นไว้ก็ไม่สามารถบังคับทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้แก่ตนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (7) ประกอบกับยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้ตามแผน ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้อีกต่อไป อีกทั้งการอายัดทรัพย์สินดังกล่าวยังมีผลกระทบต่อการปฏิบัติตามแผนอีกด้วย กล่าวคือ ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายหม้อน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบให้แก่บริษัทไทยออยส์ จำกัด ให้เป็นไปตามแผนข้อ 6.5.3 ลูกหนี้ไม่อาจเบิกถอนเงินในบัญชีเพื่อให้หมุนเวียนในการดำเนินการดำเนินธุรกิจเพื่อก่อให้เกิดรายได้ซึ่งจะต้องนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนและอาจส่งผลให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่องทางการเงินอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้ลูกหนี้สามารถนำเงินและทรัพย์สินส่วนนี้ไปใช้หมุนเวียนดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ อันจะก่อให้เกิดรายได้ชำระหนี้ตามแผนให้แก่เจ้าหนี้เป็นประโยชน์ต่อกิจการของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย ขอให้ยกเลิกคำสั่งของผู้คัดค้านทั้งสองคำสั่งดังกล่าว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า แผนหน้า 33 ข้อ 6.5.3 ระบุว่า ผู้บริหารแผนจะเจรจาและตกลงกับบริษัทไทยออยล์ จำกัด เพื่อโอนขายหม้อน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบให้แก่บริษัทดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่จะได้ตกลงกันต่อไป แผนข้อ 6.5.4 ระบุว่าผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อยกเลิกการอายัดหรือยึดบรรดาทรัพย์สินใด ๆ ของไทยลู้บเบส ที่ถูกอายัดหรือให้ไว้เป็นเงินประกันซึ่งสามารถเรียกคืนได้จากที่เจ้าหนี้ของตนได้รับการปรับโครงสร้างหนี้หรือได้รับชำระหนี้ตามข้อกำหนดของแผนนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้นำเข้าน้ำมันเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ยางมะตอย และผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่น ๆ ผู้คัดค้านเห็นว่าสินค้าที่นำเข้าจำนวน 4 เที่ยวเรือนั้น มีคุณสมบัติเป็นน้ำมันเตา จึงทำการประเมินภาษีสรรพสามิต ลูกหนี้คัดค้านการประเมินพร้อมทั้งยื่นคำขอทุเลาการชำระภาษี แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทุเลาการชำระภาษี ระหว่างพิจารณาคำคัดค้านการประเมินภาษี ผู้คัดค้านได้ดำเนินการเร่งรัดบังคับชำระภาษีที่ค้าง จากการตรวจสอบพบว่าลูกหนี้มีเงินฝากอยู่กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขานานาเหนือ เป็นเงิน 13,976,366.80 บาท และมีเครื่องจักรจำนวน 6 เครื่อง จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้คัดค้านจึงทำการอายัดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 141 ตามคำสั่ง 10/2544 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2544 และคำสั่งที่ 1/2545 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2545 ผู้คัดค้านได้อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก่อนวันที่ 14 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณา จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (7) ที่ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมาย ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติชัดแจ้งที่ให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินที่ได้ยึดและอายัดไว้ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา แม้ว่าแผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วจะผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 ก็ตาม แต่แผนในส่วนที่ขัดต่อกฎหมายย่อมใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้น แผนในบทที่ 6 ข้อ 6.5.3 ที่กำหนดให้ “…ผู้บริหารแผน (หรือไทยลู้บเบส) จะเจรจาและตกลงกับบริษัทไทยออยล์ จำกัด เพื่อโอนขายหม้อน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบให้แก่บริษัทไทยออยล์ จำกัด โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน…” และข้อ 6.5.4 ที่กำหนดว่า “ผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อยกเลิกการอายัดหรือยึดถือบรรดาทรัพย์สินใด ๆ ของไทยลู้บเบสที่ถูกอายัดไว้หรือให้ไว้เป็นเงินประกันซึ่งสามารถเรียกคืนได้จากเจ้าหนี้ที่หนี้ของตนได้รับการปรับโครงสร้างหรือได้ชำระตามข้อกำหนดแผนนี้” นั้น ย่อมหมายถึงกรณีที่ผู้คัดค้านยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณาเท่านั้น ไม่ใช่ครอบคลุมถึงกรณีที่ผู้คัดค้านได้อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก่อนวันดังกล่าวเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (7) อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติที่ชัดแจ้งที่ให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินที่ได้ยึดไว้ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณา ผู้ร้องไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายเครื่องจักร 6 เครื่อง ที่ถูกอายัดไว้ ผู้คัดค้านชอบที่จะอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้จนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้เสร็จสิ้นหรือจนกว่าลูกหนี้จะได้จัดหาหลักประกันให้แก่ผู้คัดค้านจนคุ้มกับหนี้ภาษีที่จะต้องชำระ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 10/2544 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2544 และที่ 1/2545 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2545 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได่ว่า ผู้คัดค้านได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่ 10/2544 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2544 อายัดเงินฝากของลูกหนี้ในธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักนานาเหนือ จำนวน 13,976,366.80 บาท และคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่ 1/2545 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2545 อายัดหม้อน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบรวมจำนวน 6 เครื่อง การอายัดดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาในวันที่ 14 มีนาคม 2546 ผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 4 กรกฎาคม 2546 และถูกจัดเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ต่อมาศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ และคดีถึงที่สุด ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า การอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการตกอยู่ในบังคับมาตรา 90/12 (7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ที่ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่กฎหมายได้กำหนดให้เกิดสภาวะหยุดนิ่งหรือพักการชำระหนี้ (automatic Stay) ขึ้นนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณาโดยมีวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษาทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่การรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามระบบที่กฎหมายกำหนดไว้ภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการและให้เวลาแก่ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนสำรวจความบกพร่องของกิจการนำไปวางแผนปรับปรุงแก้ไขให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งลดความกดดันทางการเงินจากการถูกเจ้าหนี้บังคับยึดทรัพย์สินหรือหลักประกัน และมาตรา 90/27 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ…” กรณีเป็นการกำหนดให้เจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการก็เพื่อให้ผู้ทำแผนทราบถึงจำนวนหนี้สินของลูกหนี้ที่จะต้องนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ก็ได้รับการชำระหนี้ตามจำนวนและเงื่อนไขที่กำหนดในแผน ซึ่งมาตรา 90/60 บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ…” บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายในกระบวนการของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ จึงต้องผูกพันในแผนฟื้นฟูกิจการ กล่าวคือ เมื่อศาลสั่งเห็นชอบด้วยแผน สิทธิของเจ้าหนี้ในการได้รับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในแผน สิทธิของเจ้าหนี้ในการจะบังคับชำระหนี้เองในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้นี้ย่อมสิ้นไป สำหรับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดไว้ก่อนวันที่ศาลได้รับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณานั้น เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองในการห้ามมิให้ผู้คัดค้านยึดหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปแล้ว ก็เพื่อให้การชำระหนี้จะต้องเป็นไปตามแผนนั้น แม้มาตรา 90/12 (7) จะใช้คำว่า “ยึด” ก็ตาม แต่ย่อมหมายรวมถึงการอายัดด้วย เพราะการอายัดในการบังคับคดีเอง เมื่อมีการส่งทรัพย์สินหรือเงินตามที่อายัดให้ ก็จะนำไปสู่การบังคับคดีได้เองนั่นเอง แม้ในคดีนี้จะเป็นการอายัดก่อนที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความด้วยว่ามูลหนี้ของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ผู้คัดค้านจึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระจากลูกหนี้ด้วย ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 90/60 ดังกล่าว ผู้คัดค้านไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้อีกต่อไปผู้บริหารแผนชอบที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินทั้งสองคำสั่งนั้นเสีย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share