คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นสามีจำเลยที่ 1 เมื่อ ส. สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ ส. จำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับก่อนส่งมอบ แม้การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนยังไม่สำเร็จบริบูรณ์แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 83, 33 ริบของกลางทั้งหมด เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3883/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นสองกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 14 ปี ปรับคนละ 750,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกละ 6 ปี ปรับคนละ 390,000 บาท รวมจำคุกคนละ 20 ปี ปรับคนละ 1,140,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 26 ปี 8 เดือน ปรับ 1,520,000 บาท ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน ปรับ 760,000 บาท ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน ปรับ 760,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกินสองปี ริบเมทแอมเฟตามีนกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี ปรับ 300,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน ปรับ 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีกำหนด 14 ปี ปรับ 750,000 บาท เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 18 ปี 8 เดือน ปรับ 1,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน ปรับ 500,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน 194 เม็ด เมื่อตรวจค้นบ้านของจำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 570 เม็ด ซ่อนอยู่ใต้หมอนบนที่นอนในห้องนอน ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มอบเมทแอมเฟตามีน 194 เม็ด ให้จำเลยที่ 1 ไปส่งมอบให้นายสุรพงษ์ตามที่นายสุรพงษ์สั่งซื้อ จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนไว้ในกางเกงในแล้วขับรถจักรยานยนต์ไปบ้านนายสุรพงษ์ แต่เมื่อไปถึงบ้านนายสุรพงษ์จำเลยที่ 1 ยังไม่ทันส่งมอบเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 พร้อมเมทแอมเฟตามีน 194 เม็ด ได้ก่อน ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นสามีจำเลยที่ 1 เมื่อนายสุรพงษ์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้นายสุรพงษ์ จำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับก่อนส่งมอบ แม้การซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 194 เม็ด ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 194 เม็ด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีน 764 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีน 764 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน 194 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง โจทก์มีพันตำรวจตรีชาลี เรืองศิลป์ พนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า วันที่พยานไปตรวจบ้านเกิดเหตุ พยานเข้าบ้านเกิดเหตุไม่ได้เพราะประตูบ้านถูกล็อกไว้ และจำเลยที่ 2 ให้การเพิ่มเติมชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ว่าเหตุที่จำเลยที่ 2 นำชี้ที่เกิดเหตุภายในบ้านไม่ได้เพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองแล้วจึงไม่มีผู้ใดอยู่บ้าน และไม่ทราบว่าใครนำกุญแจบ้านไป ดังนี้ จึงเป็นการแจ้งชัดว่าบ้านเกิดเหตุมีจำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ด้วยกันเพียงสองคนเท่านั้น เมื่อเมทแอมเฟตามีน 570 เม็ด ที่เหลือจากการนำไปส่งให้นาย สุรพงษ์ เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบอยู่ใต้หมอนบนที่นอนให้ห้องนอน แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีเจตนานำเมทแอมเฟตามีนไปซุกซ่อนเพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 รับรู้ด้วยแต่อย่างใด และตามภายถ่าย จำเลยที่ 2 นำชี้บ้านเกิดเหตุ ลักษณะของบ้านเป็นห้องแถวซึ่งหากจำเลยที่ 2 จะนำเมทแอมเฟตามีนไปซุกซ่อนในบริเวณบ้านแห่งใดก็ได้เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 รู้ แต่การที่ซุกซ่อนไว้ใต้หมอนบนที่นอนในห้องนอนย่อมเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นภริยาต้องรู้เห็นด้วยอย่างแน่นอน อีกทั้งจากบันทึกการตรวจค้น จับกุม จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมทแอมเฟตามีนทั้งหมดจำเลยที่ 1 ซื้อมาจากนายบอล ถุงละ 6,600 บาท นำมาจำหน่ายต่อถุงละ 7,300 บาท กระดาษสาที่พบในบ้าน เป็นกระดาษที่ใช้ห่อเมทแอมเฟตามีนเป็นมัด มัดละ 10 ถุง มีเมทแอมเฟตามีน 200 เม็ด อันเป็นรายละเอียดที่จำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้บอกเล่าให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจึงบันทึกไว้ได้ ที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่าชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเพราะสับสน เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหา จำเลยที่ 1 ยอมรับแต่เพียงว่านำสิ่งของไปจริง แต่ไม่ทราบว่าสิ่งของเป็นอะไรเท่านั้น แต่คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตอบคำถามพนักงานสอบสวนว่า ที่ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเพราะไม่เข้าใจข้อหาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 เองอันเป็นพิรุธ เมื่อพิจารณาวุฒิการศึกษาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก สามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ดี และทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวประจำโรงพยาบาลชลบุรี ตำแหน่งผู้ช่วยเหลือคนไข้ อาชีพของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องสื่อสารได้ดีทั้งคำพูดละข้อความที่เขียนจึงจะทำงานดังกล่าวได้ เชื่อว่า จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาของเจ้าพนักงานตำรวจชั้นจับกุมได้ดีแล้วจึงให้การรับสารภาพทันทีที่ถูกจับกุม และเมื่อจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 ซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายบอล ไม่ทราบนามสกุลที่บ้านสวนซอย 9 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ราคาถุงละ 6,600 บาท นำมาจำหน่ายให้ลูกค้าถุงละ 7,300 บาท ซึ่งก็ตรงกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ชั้นจับกุมนั่นเอง แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองต่างรู้เห็นในการซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายบอลมาจำหน่ายและรู้ถึงต้นทุน กำไรของเมทแอมเฟตามีนอีกด้วย ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีน 764 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องโจทก์ ข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานมีเมทแอมตามีนอีก 570 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหานี้มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนเงินจำนวน 21,000 บาท ของกลางนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้สั่งริบ ก็ชอบที่จะคืนแก่เจ้าของเสียด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), มาตรา 66 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี และจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 14 ปี และปรับ 750,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงแรกคงจำคุก 2 ปี 8 เดือน กระทงหลังจำคุก 9 ปี 4 เดือน และปรับ 500,000 บาท รวมจำคุก 11 ปี 12 เดือน และปรับ 500,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อรวมโทษความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนกับโทษความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีก 14 ปี และปรับ 750,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้ว กระทงแรกจำคุก 5 ปี 4 เดือน กระทงหลังจำคุก 18 ปี 8 เดือน และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกรวม 11 ปี 12 เดือน และปรับ 500,000 บาท กับให้คืนเงิน 21,000 บาท ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share