คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ออกใบรับขนของทางอากาศฉบับแรกโดยระบุชื่อผู้ขายเป็นผู้ส่ง บริษัทผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่ง และใบรับขนของทางอากาศฉบับหลังก็ปรากฏข้อเท็จจริงต่อเนื่องกันกับการออกใบรับขนของทางอากาศฉบับแรก โดยใบรับขนของทางอากาศฉบับหลังจำเลยที่ 3 ออกให้โดยระบุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่ง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่งที่ท่าอากาศยานปลายทางในประเทศไทย อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้านี้ทางอากาศเพื่อนำไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้รับมอบสินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปส่งมอบยังสำนักงานของผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับจัดการขนส่งโดยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจากผู้ขายแล้วดำเนินการขนส่งมาจนถึงท่าอากาศยานในประเทศแคนาดาและว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่งทางอากาศมายังประเทศไทย และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทางบกต่อในช่วงสุดท้ายนี้ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่ง หากสินค้าสูญหายไปในช่วงระหว่างตั้งแต่จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ขนส่งทางบกช่วงสุดท้ายไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย
ปัญหาว่าสินค้าสูญหายไปในช่วงการขนส่งโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวหรือไม่ โจทก์ผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สินค้าตามฟ้องสูญหายไปในระหว่างการขนส่งที่ผู้ขนส่งต้องรับผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนต่อโจทก์ และเมื่อโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วม กรณีจึงเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ก็สมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 365,666.87 บาท แก่โจทก์กับชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 346,765.32 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 346,765.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่ามีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า สินค้าสูญหายไปในระหว่างการขนส่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาประกอบกันใบรับขนของทางอากาศซึ่งเป็นฉบับเดียวกันก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ออกใบรับขนของทางอากาศฉบับนี้โดยระบุชื่อผู้ขายเป็นผู้ส่ง บริษัทดิจิตอล โฟน จำกัด ผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่ง และตามใบรับขนของทางอากาศ ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันก็ปรากฏข้อเท็จจริงต่อเนื่องกันกับการออกใบรับขนของทางอากาศฉบับแรก ดังกล่าวข้างต้น โดยใบรับขนของทางอากาศฉบับหลังเป็นใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 3 ออกให้โดยระบุ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่ง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่งที่ท่าอากาศยานปลายทางในประเทศไทย อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้านี้ทางอากาศเพื่อนำไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้รับมอบสินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปส่งมอบยังสำนักงานของบริษัทดิจิตอล โฟน จำกัด และจำเลยที่ 1 ก็นำสืบรับว่า พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับมอบสินค้าจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้วนำขึ้นรถยนต์บรรทุกนำไปส่งแก่ผู้ซื้อที่สำนักงานผู้ซื้อแสดงว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อประสานงานกันให้จำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้าทางอากาศมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าและขนส่งต่อไปยังสำนักงานผู้ซื้อนั่นเอง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจัดการขนส่งโดยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจากผู้ขายแล้วดำเนินการขนส่งมาจนถึงท่าอากาศยานในประเทศแคนาดา และว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่งทางอากาศมายังประเทศไทย และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทางบกต่อในช่วงสุดท้ายนี้ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่ง ดังนี้หากสินค้าสูญหายไปในช่วงระหว่างตั้งแต่จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ขนส่งทางบกช่วงสุดท้ายไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ส่วนปัญหาต่อไปว่าสินค้าสูญหายไปในช่วงการขนส่งโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์ผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงนี้มีภาระการพิสูจน์ที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สินค้า 20 เครื่อง สูญหายไปในช่วงการขนส่งดังกล่าวนี้ ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์นั้นในเบื้องต้นโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงรายละเอียดข้อตกลงในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อในเทอมเอฟซีเอ (FCA)ที่ผู้ซื้อต้องรับมอบสินค้าจากผู้ขายในประเทศแคนาดาว่ามีรายละเอียดการส่งมอบกันในลักษณะอย่างไรและใครมีหน้าที่ในการบรรจุสินค้าบนพัลเล็ต ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าสินค้าสูญหายไปในระหว่างอยู่ในความผิดชอบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ทั้งปรากฏว่า ตามใบรับขนของทางอากาศ อันเป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับสินค้าไว้จากผู้ขาย ก็ปรากฏรายละเอียดของสินค้าเพียงว่า สินค้าทั้งหมดที่จำเลยที่ 2 ได้รับไว้มี 3 กล่อง กล่องที่ 1 มีขนาด 120 x 102 x 30 เซนติเมตร กล่องที่ 2 มีขนาด 29 x 17 x 23 เซนติเมตร และกล่องที่ 3 มีขนาด 40 x 29 x 21 เซนติเมตรและทั้งสามกล่องมีน้ำหนักรวม 198 กิโลกรัม เท่านั้น โดยไม่ระบุจำนวนสินค้าว่ามีเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 240 กล่อง และอุปกรณ์ 12 กล่อง ตามสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเอกสารแสดงถึงการที่พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 นำสินค้าจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อนั้น ปรากฏว่ามีนายธีรชาติ พนักงานบริษัทผู้ซื้อเป็นผู้รับสินค้า โดยมีข้อความในการรับมอบสินค้าระบุไว้ว่าสภาพภายนอกพัลเล็ตเรียบร้อย มีซีลหุ้มปกติตรวจสอบสินค้าไม่ครบจำนวน 20 เซ็ต ซึ่งก็เจือสมกับข้อเท็จจริงตามที่นายวิชาญ พยานจำเลยที่ 1 ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความประกอบว่า พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับมอบสินค้า 3 พัลเล็ตที่คลังสินค้าบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในสภาพเรียบร้อย แล้วนำขึ้นรถยนต์บรรทุกปิดประตูผนึกซีลไว้ และเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงสำนักงานบริษัทผู้ซื้อในจังหวัดนนทบุรีใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งเป็นเวลาเดินทางตามปกติ แล้วส่งมอบแก่พนักงานบริษัทผู้ซื้อโดยซีลปกติ ส่วนสินค้าบนพัลเล็ตนั้นจะมีแผ่นพลาสติกคลุมปิดทับมีแถบพลาสติกคาดรอบพัลเล็ตอย่างแน่นหนาปรากฏตามภาพถ่าย ต้องใช้เครื่องมือตัดแถบรัดทั้งกล่องบรรจุสินค้าที่สูญหายก็อยู่กลางพัลเล็ต แสดงว่าสินค้าต้องสูญหายไปก่อนมีการปิดคลุมพลาสติกและคาดแถบรัดดังกล่าว เพราะหากสูญหายภายหลังก็ต้องมีรอยพลาสติกฉีกขาด แม้นายธีรชาติเบิกความในชั้นพิจารณาปฏิเสธว่าข้อความในดังกล่าวว่า “สภาพภายนอกพัลเล็ตเรียบร้อยดี มีซีลหุ้มปกติ” ไม่ใช่ลายมือเขียนของตนก็ตาม แต่นางสาวพัทธ์ธีราพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายนำเข้าสินค้าบริษัทผู้ซื้อเบิกความว่า บริษัทสั่งซื้อสินค้าทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว 2 ถึง 3 ปี โดยขนส่งทางอากาศ ซึ่งปกติจะมีการวางสินค้ารวมกันบนพัลเล็ตและมีแถบพลาสติกคาดไว้ตามภาพถ่ายภาพที่ 2 และมีพลาสติกคลุมอีกชั้นหนึ่ง โดยมีสายพลาสติกคาดไว้อีกชั้นด้วยตามภาพถ่าย ภาพที่ 1 ซึ่งลักษณะการคลุมพลาสติกและมีสายรัด 2 ชั้น ตามภาพ 2 ภาพนี้ เห็นได้ว่าหากจะนำกล่องบรรจุสินค้าออกมาแกะเอาสินค้าไป จะต้องทำลายพลาสติกและแถบรัด และนายธีรชาติก็เบิกความอีกว่า ในวันรับสินค้าพนักงานจำเลยที่ 1 นำสินค้ามาส่ง 3 หีบห่อ พยานตรวจสอบเลขซีลที่ประตูรถบรรทุกแล้วเห็นว่าถูกต้องจึงตัดซีลออกแล้วเปิดประตูนำสินค้าเข้าไปที่คลังสินค้าเพื่อตรวจสอบ การตรวจสอบด้วยสายตาถ้าเห็นว่าปกติก็จะแกะหีบห่อแล้วนำขึ้นชั่งน้ำหนัก แต่เมื่อยกสินค้าขึ้นก็ปรากฏว่ามีน้ำหนักเบา พยานตรวจสอบอีกครั้งก็ปรากฏว่ามีรอยกรีดที่หีบห่อซึ่งอยู่ตรงกลางมัด เมื่อแกะออกดูแล้วไม่พบสินค้า จึงถ่ายภาพไว้ตามภาพถ่าย ซึ่งก็เป็นเพียงภาพกล่องสินค้ากล่องใหญ่ที่มีรอยกรีดฝากล่องเท่านั้น อันเป็นภาพกล่องหลายกล่องบนพัลเล็ตที่มีการแกะพลาสติกห่อหุ้มพัลเล็ตออกหมดแล้ว ไม่ปรากฏภาพแสดงว่าก่อนตัดแถบรัดและแกะพลาสติกหุ้มคลุมพัลเล็ตออกมีรอยตัดสายรัดหรือพลาสติกหุ้มฉีกขาด ซึ่งหากมีร่องรอยเช่นนี้นายธีรชาติก็น่าจะถ่ายภาพและเบิกความให้ปรากฏไว้ และนายธีรชาติก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3ถามค้านว่า ขณะที่พยานเห็นสินค้ามองด้วยสายตาไม่อาจทราบได้ว่าสินค้าสูญหายหรือไม่ต้องเปิดดูจึงจะทราบ ซึ่งก็ส่อแสดงว่าก่อนแกะเปิดดูสภาพพลาสติกและแถบรัดพัลเล็ตเป็นปกติ นอกจากนี้นายธีรชาติก็ยังเบิกความอีกว่า ต้นฉบับเอกสาร ดังกล่าวน่าจะเก็บอยู่ที่บริษัทดิจิตอล โฟน จำกัด ทั้งโจทก์เป็นฝ่ายอ้างและนำส่งเอกสารฉบับนี้ประกอบคำเบิกความพยานโจทก์ปากนางสาวจินดา และนางสาวพัทธ์ธีรา อันเป็นเหตุให้น่าเชื่อว่าต้นฉบับเอกสารฉบับนี้เก็บอยู่ที่บริษัทผู้ซื้อที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ย่อมไม่มีเหตุผลที่บุคคลภายนอกจะแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสารฉบับนี้ คำเบิกความของนายธีรชาติที่ว่าข้อความที่ว่าสภาพภายนอกพัลเล็ตเรียบร้อย ไม่ใช่ลายมือของตนจึงไม่น่าเชื่อ ทั้งตามคำเบิกความนายธีรชาติก็ได้เบิกความเป็นทำนองว่าจะต้องมีการชั่งน้ำหนักด้วย ก็มีข้อความระบุถึงสินค้าที่พนักงานจำเลยที่ 1 นำมาส่งมอบมี 3 ชิ้น น้ำหนัก 198 กิโลกรัม ซึ่งการตรวจรับสินค้าก็ควรต้องชั่งน้ำหนักให้ทราบว่ามีน้ำหนัก 198 กิโลกรัม จริงหรือไม่ โดยหากสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ 20 เครื่อง ที่บรรจุในกล่องเล็ก 20 กล่อง ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักพอสมควรสูญหายไปในระหว่างการขนส่งจริงน้ำหนักสินค้าก็ต้องลดลงจาก 198 กิโลกรัม อันจะเป็นข้อมูลพิสูจน์แสดงว่าสินค้าดังกล่าวสูญหายไประหว่างการขนส่งของผู้ขนส่งจริง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เอาประกันภัยและโจทก์สามารถตรวจสอบแสดงข้อมูลการชั่งน้ำหนักเช่นนี้ได้ แต่โจทก์ก็ไม่นำสืบแสดงพยานหลักฐานข้อมูลการชั่งน้ำหนักสินค้าในขณะที่บริษัทผู้ซื้อตรวจรับสินค้าแต่อย่างใด ย่อมเป็นข้อบกพร่องและเป็นพิรุธอย่างยิ่งในการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ผู้มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้จากพยานหลักฐานดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่า สินค้าสูญหายไปภายหลังจากที่มีการบรรจุบนพัลเล็ตและห่อหุ้มพลาสติกกับรัดแถบพลาสติกคาดไว้แล้ว ดังนี้ย่อมมีความเป็นไปได้เพียงว่าสินค้าอาจสูญหายไปก่อนการบรรจุบนพัลเล็ต และในข้อนี้ก็มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าใครเป็นผู้บรรจุสินค้าบนพัลเล็ตดังกล่าว เห็นได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 2 รับสินค้าจากผู้ขายมาบรรจุหีบห่อบนพัลเล็ต 3 พัลเล็ต เอง และสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ 20 เครื่อง ตามฟ้องสูญหายไปในระหว่างตั้งแต่จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าทั้งหมดจากผู้ขายในประเทศแคนาดา แล้วนำมาส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 ขนส่งทางอากาศมายังสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วจำเลยที่ 1รับมอบสินค้านั้นไปส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัย อันจะถือว่าของหรือสินค้าที่ได้มอบหมายให้แก่ผู้ขนส่งสูญหายไปในระหว่างการขนส่งที่ผู้ขนส่งต้องรับผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนต่อโจทก์ ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์นั้นมีข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งและสินค้าที่เขามอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสูญหายไปในระหว่างการขนส่งอันเป็นความรับผิดตามสัญญารับขนตามปัญหาที่ได้วินิจฉัยมาแล้วเท่านั้น โดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาตัวแทนแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 เป็นการพิพากษานอกเหนือจากคำฟ้องโดยไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วม กรณีจึงเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ก็สมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2ด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share