คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ม.ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายโดยม. ยอมรับผิดต่อโจทก์ต่อมาโจทก์และม.มาพบจำเลยที่อู่ของจำเลยเพื่อให้จำเลยประเมินค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์จำเลยประเมินราคาค่าซ่อมและค่าอะไหล่รวม100,000บาทโจทก์และม.ตกลงค่าซ่อมและค่าอะไหล่70,000บาทจำเลยตกลงรับจ้างซ่อมให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์และม.มีเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาว่าม.ชำระค่าซ่อมในวันทำสัญญา30,000บาทส่วนที่เหลือ40,000บาทจะนำมาชำระที่อู่ของจำเลยภายในวันที่30มีนาคม2536หากผิดนัดยอมชำระค่าซ่อมและค่าอะไหล่100,000บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดโดยมีโจทก์และม. ลงชื่อเป็นคู่สัญญาจำเลยกับพ.ภริยาจำเลยลงชื่อเป็นพยานในวันเดียวกันนั้นโจทก์และจำเลยทำสัญญาว่าอู่ของจำเลยจะซ่อมรถยนต์ของโจทก์ให้เสร็จประมาณวันที่5มีนาคม2536ได้รับชำระหนี้ล่วงหน้าแล้ว30,000บาทส่วนที่เหลือ40,000บาทผู้ซ่อมจะเรียกเก็บจากม. โดยค่าซ่อมส่วนนี้โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยโจทก์ลงชื่อในฐานะผู้ให้ซ่อมจำเลยลงชื่อในฐานะผู้ซ่อมแม้ตามสัญญาจะมิได้ระบุชัดว่าโจทก์หรือม.เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยคงมีเงื่อนไขในข้อตกลงของโจทก์และม.ว่าม. จะนำค่าซ่อมส่วนที่เหลือดังกล่าวแก่จำเลยเนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าของอู่และยังเป็นเจ้าหนี้ในค่าซ่อมส่วนที่เหลือดังกล่าวด้วยแต่เงื่อนไขดังกล่าวยังไม่พอฟังว่าม.ว่าจ้างจำเลยซ่อมเพราะตามสัญญาดังกล่าวยังมิได้กำหนดเวลาซ่อมเสร็จอันเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญาว่าจ้างซ่อมทั้งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์และม.ซึ่งเป็นคู่สัญญาจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาด้วยแต่กำหนดเวลาซ่อมแล้วเสร็จมาระบุในสัญญาเอกสารหมายจ.5โดยมีโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญาทั้งการลงชื่อในสัญญาก็ได้ระบุว่าโจทก์ในฐานะผู้ให้ซ่อมจำเลยในฐานะผู้ซ่อมโจทก์จึงเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยซ่อมรถยนต์ของโจทก์หาใช่ม. ไม่ เมื่อจำเลยซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จและม. ผิดนัดไม่นำเงินค่าซ่อมส่วนที่เหลือมาชำระแก่จำเลยตามที่ตกลงกับโจทก์ในโจทก์ก็ต้องเป็นผู้ชำระค่าซ่อมดังกล่าวแก่จำเลยแต่เมื่อจำเลยตกลงกับโจทก์ว่าจำเลยจะเป็นผู้เรียกเก็บค่าซ่อมส่วนที่เหลือ40,000บาทจากม. เองโดยโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าซ่อมดังกล่าวแสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในค่าซ่อมดังกล่าวตกลงรับภาระแทนโจทก์โดยจะเรียกเก็บค่าซ่อมส่วนที่เหลือจากม. ตามที่ม.ตกลงกับโจทก์ไว้โดยโจทก์ไม่ต้องชำระค่าซ่อมแก่จำเลยข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาอย่างหนึ่งผูกพันจำเลยต้องปฏิบัติตามเมื่อจำเลยไม่อาจเรียกค่าซ่อมจากม. ได้เนื่องจากม.ไม่ยอมชำระจำเลยย่อมไม่มีสิทธิย้อนกลับมาฟ้องเรียกค่าซ่อมส่วนที่เหลือดังกล่าวจากโจทก์อีกเพราะขัดต่อสัญญาที่จำเลยตกลงทำกับโจทก์ไว้โดยจำเลยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าม. ต้องชำระค่าซ่อมแทนโจทก์โจทก์จึงไม่ต้องชำระค่าซ่อมดังกล่าวแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2535 รถยนต์กระบะของโจทก์ถูกรถยนต์ของนายมิตรชัย ไชยรินทร์ ชนได้รับความเสียหายนายมิตรชัยยินยอมชดใช้ค่าซ่อม โดยตกลงนำไปซ่อมที่อู่อนันต์กลการของจำเลย วันที่ 20 มกราคม 2536 นายมิตรชัยทำสัญญาจะชำระค่าซ่อมให้แก่จำเลย 70,000 บาทชำระในวันทำสัญญา 30,000 บาทที่เหลือ 40,000 บาท จะชำระที่อู่ของจำเลยภายในวันที่30 มีนาคม 2536 หากผิดนัดยอมชดใช้เงิน 100,000 บาท ตามที่จำเลยประเมินค่าซ่อมพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด และจำเลยทำสัญญากับโจทก์ว่าจะซ่อมรถยนต์ให้เสร็จภายในวันที่ 5 มีนาคม 2536เงินส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาทจำเลยจะเรียกเก็บจากนายมิตรชัยเมื่อครบกำหนดโจทก์ไปขอรับรถยนต์คืน จำเลยไม่ยอมมอบให้อ้างว่านายมิตรชัยไม่นำเงินค่าซ่อมที่เหลือมาชำระ ทำให้โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ค้าขายตามปกติคิดเป็นค่าเสียหายวันละ 300 บาทนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2536 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 27,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนรถยนต์และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์แก่โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี ถ้าไม่คืน ให้ใช้ราคา 180,000 บาท และค่าเสียหายอีก27,000 บาทรวมเป็นเงิน 207,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี กับค่าเสียหายวันละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยซ่อมรถยนต์ของโจทก์ มิใช่นายมิตรชัย นายมิตรชัยยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท แต่จำเลยรับซ่อมในราคา 70,000 บาทนายมิตรชัยชำระค่าซ่อมในวันทำสัญญา 30,000 บาท ส่วนที่เหลือ40,000 บาท จะชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 30 มีนาคม 2536 หากผิดนัดนายมิตรชัยยอมชดใช้เงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดโจทก์มอบเงิน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาและจะชำระส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท ในวันที่ 5 มีนาคม 2536 ซึ่งเป็นวันนัดมารับรถ จำเลยซ่อมเสร็จภายในกำหนดโจทก์มาขอรับรถยนต์คันแต่นายมิตรชัยไม่ชำระค่าซ่อมที่เหลือโจทก์จึงยอมให้จำเลยยึดหน่วงรถยนต์ไว้และพาจำเลยไปติดตามทวงถามค่าซ่อมจากนายมิตรชัยแต่ไม่ได้รับชำระหนี้ โจทก์ตกลงจะนำเงินมาชำระภายในวันที่30 มีนาคม 2536 เมื่อถึงกำหนดโจทก์ไม่นำเงินมาชำระ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ที่ซ่อมไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย หากโจทก์ชำระเงินที่เหลือก็สามารถรับรถยนต์คืนไปได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกราคารถยนต์ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินที่เหลือ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยตกลงซ่อมรถยนต์ของโจทก์กับนายมิตรชัย จึงต้องไปเรียกร้องจากนายมิตรชัย จำเลยซ่อมรถไม่เสร็จภายในกำหนดอันเป็นการผิดสัญญา โจทก์เสียหายจึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยคืนรถยนต์แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมรถที่เหลือ40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ต้องชำระค่าซ่อมรถยนต์ส่วนที่เหลือแก่จำเลยหรือไม่เห็นว่ามูลคดีเกิดขึ้นเนื่องจากนายมิตรชัย ไชยรินทร์ ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยนายมิตรชัยยอมรับผิดต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2536 โจทก์และนายมิตรชัยมาพบจำเลยที่อู่อนันต์กลการของจำเลย เพื่อให้จำเลยประเมินค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ จำเลยประเมินราคาค่าซ่อมและค่าอะไหล่รวม 100,000 บาท โจทก์และนายมิตรชัยตกลงค่าซ่อมและค่าอะไหล่70,000 บาทจำเลยตกลงรับจ้างซ่อมให้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนายมิตรชัยมีเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.4ว่า นายมิตรชัยชำระค่าซ่อมในวันทำสัญญา 30,000 บาทส่วนที่เหลือ 40,000 บาท จะนำมาชำระที่อู่อนันต์กลการภายในวันที่ 30 มีนาคม 2536 หากผิดนัดยอมชำระค่าซ่อมและค่าอะไหล่100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด โดยมีโจทก์และนายมิตรชัยลงชื่อเป็นคู่สัญญา จำเลยกับนางพิมพา บัวเทศภริยาจำเลยลงชื่อเป็นพยาน ในวันเดียวกันนั้นโจทก์และจำเลยทำสัญญาเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า อู่อนันต์กลการจะซ่อมรถยนต์ของโจทก์ให้เสร็จประมาณวันที่ 5 มีนาคม 2536 ได้รับชำระหนี้ล่วงหน้าแล้ว 30,000 บาทส่วนที่เหลือ 40,000 บาท ผู้ซ่อมจะเรียกเก็บจากนายมิตรชัย โดยค่าซ่อมส่วนนี้โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้ให้ซ่อม จำเลยลงชื่อในฐานะผู้ซ่อม ปัญหาที่โจทก์และจำเลยนำสืบโต้เถียงกันว่า โจทก์หรือนายมิตรชัยเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยซ่อมรถยนต์ของโจทก์ แม้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 จะมิได้ระบุชัดว่าโจทก์หรือนายมิตรชัยเป็นผู้ว่าจ้างจำเลย คงมีเงื่อนไขในข้อตกลงของโจทก์และนายมิตรชัยว่า นายมิตรชัยจะนำค่าซ่อมส่วนที่เหลือ 40,000 บาท มาชำระที่อู่อนันต์กลการย่อมหมายถึงชำระค่าซ่อมส่วนที่เหลือดังกล่าวแก่จำเลยเนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าของอู่และยังเป็นเจ้าหนี้ในค่าซ่อมส่วนที่เหลือดังกล่าวด้วย แต่เงื่อนไขดังกล่าวยังไม่พอฟังว่านายมิตรชัยว่าจ้างจำเลยซ่อม เพราะตามสัญญาดังกล่าวยังมิได้กำหนดเวลาซ่อมเสร็จอันเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญาว่าจ้างซ่อมทั้งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์และนายมิตรชัยซึ่งเป็นคู่สัญญาจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาด้วย กำหนดเวลาซ่อมแล้วเสร็จมาระบุในสัญญาเอกสารหมาย จ.5 โดยมีโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญา ทั้งการลงชื่อในสัญญาก็ได้ระบุว่าโจทก์ในฐานะผู้ให้ซ่อมจำเลยในฐานะผู้ซ่อมจึงเห็นได้ชัดว่า โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยซ่อมรถยนต์ของโจทก์หาใช่นายมิตรชัยไม่ ซึ่งตามปกติเมื่อจำเลยซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จและนายมิตรชัยผิดนัดโจทก์ไม่นำเงินค่าซ่อมส่วนที่เหลือมาชำระแก่จำเลยตามที่ตกลงกับโจทก์ในสัญญาเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ต้องเป็นผู้ชำระค่าซ่อมดังกล่าวแก่จำเลย แต่จำเลยตกลงกับโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.5 ว่าจำเลยจะเป็นผู้เรียกเก็บค่าซ่อมส่วนที่เหลือ 40,000 บาท จากนายมิตรชัยเองโดยโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าซ่อมดังกล่าวแสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในค่าซ่อมดังกล่าวตกลงรับภาระแทนโจทก์ โดยจะเรียกเก็บค่าซ่อมส่วนที่เหลือจากนายมิตรชัยตามที่นายมิตรชัยตกลงกับโจทก์ไว้ โดยโจทก์ไม่ต้องชำระค่าซ่อมแก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาอย่างหนึ่งผูกพันจำเลยต้องปฏิบัติตาม เมื่อจำเลยไม่อาจเรียกค่าซ่อมจากนายมิตรชัยได้เนื่องจากนายมิตรชัยไม่ยอมชำระจำเลยย่อมไม่มีสิทธิย้อนกลับมาฟ้องเรียกค่าซ่อมส่วนที่เหลือดังกล่าวจากโจทก์อีก เพราะขัดต่อสัญญาที่จำเลยตกลงทำกับโจทก์ไว้โดยจำเลยรู้อยู่ก่อนแล้วว่านายมิตรชัยต้องชำระค่าซ่อมแทนโจทก์โจทก์จึงไม่ต้องชำระค่าซ่อมดังกล่าวแก่จำเลย
พิพากษาแก้ เป็น ว่า ให้ยก ฟ้อง โจทก์และ ยกฟ้อง แย้ง จำเลย ด้วย

Share