แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยเป็นคู่รักกันต่อมาโจทก์กับจำเลยทะเลาะกันและจำเลยตบหน้าโจทก์โจทก์จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนซึ่งได้เปรียบเทียบปรับจำเลยตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งได้บันทึกเกี่ยวกับคดีอาญาแล้วยังได้บันทึกว่าจำเลยได้ขอยืมเงินของโจทก์และจำเลยสัญญาจะชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ทั้งจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างท้ายบันทึกนั้นด้วยแล้วกรณีถือได้ว่ารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินซึ่งโจทก์สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนมกราคมถึงปลายเดือนธันวาคม 2531จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ทั้งสิ้น 200,000 บาท ต่อมาวันที่16 มิถุนายน 2532 จำเลยทำหลักฐานการกู้ยืมโดยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจภูธรอำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี ขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เดือนละ 7,000 บาท ทุกวันที่15 เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2532 จำเลยผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เพียงงวดเดียวเป็นเงิน 7,000 บาท โดยชำระให้เมื่อวันที่17 สิงหาคม 2532 หลังจากนั้นผิดนัดตลอดมา โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ค้าง 193,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2532 ถึงวันฟ้องคือวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 เป็นเวลา 55 วัน เป็นค่าดอกเบี้ย 2,167.44 บาท รวมกับต้นเงินเป็นเงิน 195,167.44 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 193,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์โจทก์กับจำเลยทะเลาะกันแล้วโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยทำร้ายโจทก์โดยตบหน้าโจทก์ 2 ครั้ง เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และโจทก์ข่มขู่จำเลยว่า ถ้าไม่ได้ให้เงินแก่โจทก์ 200,000 บาท โจทก์จะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของจำเลยซึ่งจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายในหน้าที่การงาน เนื่องจากจำเลยรับราชการอยู่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อให้เรื่องยุติจำเลยจึงยอมให้พนักงานสอบสวนบันทึกตามที่โจทก์อ้าง จำเลยลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีในฐานะผู้ต้องหาที่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับสภาพหนี้ เป็นแต่เพียงค้ำประกันค่าเสียหายซึ่งไม่ถึง 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 181,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับจากวันที่15 พฤศจิกายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นคู่รักกัน ต่อมาโจทก์กับจำเลยทะเลาะกันและจำเลยตบหน้าโจทก์โจทก์จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนซึ่งได้เปรียบเทียบปรับจำเลยตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1โดยในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวนอกจากจะได้บันทึกเกี่ยวกับคดีอาญาแล้วยังได้บันทึกเกี่ยวกับคดีแพ่งเรื่องนี้มีข้อความว่า “นอกจากนี้นางสาวมาลี(โจทก์) ยังแจ้งว่าตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2531 ถึงสิ้นปี (ธ.ค.31) นายสายัณห์ (จำเลย)ได้ขอยืมเงินสดของนางสาวมาลีไปรวมทั้งสิ้น 200,000 บาท(สองแสนบาทถ้วน) จึงขอให้นายสายัณห์ สว่างเดือน ชดใช้เงินดังกล่าวให้ด้วย ร้อยตำรวจโทสมชาย ตรีสุคนธ์ ร้อยเวรสอบสวนได้สอบสวนแล้ว นายสายัณห์ สว่างเดือน ยอมรับว่าตั้งแต่ม.ค. 31-ธ.ค.31 นายสายัณห์ได้ยืมเงินไปจากนางสาวมาลีจำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) จริง และยินยอมใช้คืนให้นางสาวมาลีโดยจะผ่อนชำระให้นางสาวมาลีทุกเดือน เดือนละ7,000 บาท (เจ็ดพันบาท) โดยจะชำระให้นางสาวมาลีทุกวันที่15 ของเดือน เริ่มตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบถ้วน” ข้างท้ายข้อความที่บันทึกนี้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้ต้องหา ส่วนโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เสียหายและมีพยานกับพนักงานสอบสวนร่วมลงลายมือชื่อไว้ด้วย ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลล่างรับฟังมาว่า จำเลยตกลงกับโจทก์ตามบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวด้วยความสมัครใจ มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจะถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่ารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นเพียงคำแจ้งความกล่าวโทษจำเลยในทางอาญาต่อพนักงานสอบสวน มิได้มุ่งผูกนิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง จึงไม่เป็นนิติกรรมและไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่โจทก์จะนำมาฟ้องจำเลยได้ เกี่ยวกับปัญหานี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรก บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ พิจารณาข้อความตามบันทึกในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 จะเห็นข้อความบันทึกไว้ชัดเจนว่า จำเลยได้ขอยืมเงินของโจทก์ และจำเลยทำสัญญาจะชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ ทั้งจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างท้ายบันทึกนั้นด้วยกรณีถือได้ว่ารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งโจทก์สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องจำเลยได้ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นเพียงคำแจ้งความกล่าวโทษในคดีอาญา มิได้มุ่งผูกนิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นคนละส่วนกับทางแพ่ง ไม่ใช่เหตุที่จะนำมาวินิจฉัยว่าบันทึกนั้นไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ที่ศาลล่างรับฟังสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน