แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้นั้นต้องเป็นกรณีต้องด้วยมาตรา 296 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.พ. คือเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดการเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีบุคคลดังกล่าวจึงจะมีสิทธิยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีเสร็จลง ขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน แต่ตามคำร้อง ของ จำเลยที่ 2 ซึ่งยื่นภายหลังที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเพื่อให้เพิกถอนการขายทอดตลาด มิได้กล่าวอ้างเลยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ.แต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวอ้างว่าราคาทรัพย์พิพาทที่ผู้เข้าประมูลสู้ราคาประมูลต่ำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ตามลำดับ
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดแก่โจทก์ทั้งสามศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน69,733 บาท และใช้เงินแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จำนวน 82,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม แต่จำเลยทั้งห้าไม่ยอมชำระ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดี โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 จำนวน 1 แปลง ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว นางอรุณรัตน์ อึ้งโสภาพงษ์ ประมูลได้ราคาสูงสุดเป็นเงินจำนวน 160,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้ขายที่ดินดังกล่าวแก่นางอรุณรัตน์ เมื่อวันที่ 19มีนาคม 2533
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าราคาที่ขายต่ำไป
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาในเบื้องแรกว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน1 แปลง ที่ขายไปแล้วหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 มีความประสงค์ที่จะให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่จึงเป็นกรณีในชั้นบังคับคดีสำหรับกรณีนี้เป็นเรื่องที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไปแล้ว การที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้นั้นต้องเป็นกรณีต้องด้วยมาตรา 296วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งคือเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและเกิดการเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีเสร็จลงขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนได้ แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 มิได้กล่าวอ้างเลยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่ประการใด เพียงแต่กล่าวอ้างว่าราคาทรัพย์พิพาทที่ผู้เข้าประมูลราคาสู้ราคาประมูลต่ำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ตามบทบัญญัติดังยกขึ้นกล่าวข้างต้น คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.