คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์อันจะถือได้ว่า ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท การซื้อขายรถยนต์ แม้ยังไม่ได้โอนทะเบียนให้แก่กัน กรรมสิทธิ์ก็โอนไปยัง ผู้ซื้อได้ ส่วนการโอนทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมายเกี่ยวกับ ทะเบียนรถยนต์ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จะควบคุม ยานพาหนะและภาษีรถยนต์เท่านั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและผู้คัดค้านที่ 1ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างฯ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์รถยนต์แล้วนับแต่วันซื้อขาย การที่ลูกหนี้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์ เป็นเพียงวิธีดำเนินการแทนห้างฯ ซึ่งลูกหนี้เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการ แม้จะปรากฏว่าลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ จะถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในระหว่างเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนห้างฯ แต่การที่ลูกหนี้โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเพียงเปลี่ยนตัวผู้ถือกรรมสิทธิ์จากห้างฯ เป็นของ ผู้คัดค้านที่ 1 เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทรายนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2528นางสาวสุพัตรา ศรีอ่ำดี ได้ฟ้องลูกหนี้ (จำเลย) ขอให้ล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2528 โจทก์ทั้งสองคดีนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายเป็นอีกคดีหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2529 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีนี้ไว้เด็ดขาดแล้วศาลชั้นต้นได้สั่งจำหน่ายคดีที่นาง สาวสุพัตราฟ้องลูกหนี้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้าคันหมายเลขทะเบียน 6 จ-0161 กรุงเทพมหานครหรือหมายเลขทะเบียน ก-1000 พิจิตร ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์คันดังกล่าวเป็นเงิน 280,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่กรรมนางบังอร ทิมพงษ์ ภริยาผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 6 จ-0161 กรุงเทพมหานครหรือหมายเลขทะเบียน ก-1000 พิจิตร ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันใช้ราคารถยนต์คันดังกล่าวเป็นเงิน 280,000 บาท แก่ผู้ร้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำสั่งจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า มีเหตุที่จะให้เพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาในทำนองว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ต โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ทราบว่าห้างฯ ดังกล่าวจะมีใครเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และไม่เคยรู้จักกับลูกหนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ชำระราคารถยนต์พิพาทครบถ้วนแล้ว จึงมีการโอนทะเบียน ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ซึ่งรับโอนต่อมาก็เป็นการรับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจึงเพิกถอนการโอนไม่ได้นั้นเห็นว่าในการจะพิจารณาว่าจะเพิกถอนการโอนได้หรือไม่ สมควรพิจารณาก่อนว่า รถยนต์พิพาทรายนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ตหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ 1 ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากลูกหนี้หรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบว่า เมื่อต้นปี 2528 ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ต เป็นรถยนต์ใหม่ยังไม่มีทะเบียนผู้ขายกำหนดราคาไว้ 280,000 บาท ต่อรองแล้ว คงเหลือราคา 278,500 ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระราคาในวันซื้อ 240,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระภายใน 6 เดือน ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับรถยนต์พิพาทไปในวันซื้อขาย ส่วนที่เหลือผู้คัดค้านที่ 1 ได้ผ่อนชำระจนครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามใบรับเงินใบส่งของเอกสารหมาย ค.1ถึง ค.3 เมื่อชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้ผู้ขายโอนทะเบียนไปให้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้คัดค้านที่ 1 ทางผู้ขายได้จัดการโอนทะเบียนไปให้ดังที่ปรากฏในคำร้องของ ผู้ร้อง ดังนี้ เห็นว่า ข้อนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 มีเอกสารใบรับเงิน-ใบส่งของเอกสารหมาย ค.1 ถึง ค.3 มาเป็นหลักฐานซึ่งตามเอกสารดังกล่าวได้ระบุว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดกรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ตชำระค่างวดรถยนต์คันพิพาท ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สามารถนำสัญญาซื้อขายมาแสดงนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ก็นำสืบว่าได้มอบสัญญาซื้อขายให้กับผู้ขายเพื่อดำเนินการโอนทะเบียนไปจังหวัดพิจิตรแล้ว ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย ผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบว่าได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ตามที่อ้างและนำสืบ ส่วนปัญหาที่ผู้ร้องอ้างว่ารถยนต์พิพาทมีชื่อลูกหนี้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในทะเบียนรถยนต์นั้น เห็นว่า ทะเบียนรถยนต์นั้นไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์อันจะถือได้ว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทไม่ การซื้อขายรถยนต์แม้ยังไม่ได้โอนทะเบียนให้แก่กัน กรรมสิทธิ์ก็โอนไปยังผู้ซื้อได้ส่วนการโอนทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์นั้นก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด กรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ตเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างฯ ดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวแล้วนับแต่วันซื้อขาย ส่วนการที่ลูกหนี้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์ก็เป็นเพียงวิธีดำเนินการแทนห้างฯ ซึ่งลูกหนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าลูกหนี้ในฐานหุ้นส่วนผู้จัดการจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในระหว่างเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนห้างฯ ก็ตามแต่การที่ลูกหนี้โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นเพียงเปลี่ยนตัวผู้ถือกรรมสิทธิ์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด กรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ตเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 เท่านั้น มิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทรายนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share