คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ทั้งสี่ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ ก. โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ล. กับ ก. จึงไม่มีผลผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ แม้ ล. ได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ ก. และจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากันเข้าทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลาถึง 16 ปีเศษ ก็ต้องถือว่า ก. และจำเลยเข้ายึดถือที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่แทนโจทก์ทั้งสี่ ก. และจำเลยจึงไม่อาจยกเอาระยะเวลาที่ ก. และจำเลยเข้าทำนาในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสี่จนกว่าจำเลยกับ ก. จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อีกต่อไป แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่
แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ล. กับ ก. จะไม่ผูกพันที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ แต่เมื่อได้ความว่าหลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว ล. ยอมให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา ประกอบกับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งบุคคลมีเพียงสิทธิครอบครอง และอาจโอนการครอบครองให้กันได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 การที่ ล. มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาจึงมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนของ ล. ให้แก่จำเลยและ ก. จำเลยและ ก. ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนนี้ การที่จำเลยฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามสิทธิของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2)
ที่จำเลยมีคำขอท้ายฟ้องแย้ง ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสี่ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์ทั้งสี่ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่จะขอให้บังคับเช่นนั้นได้ อีกทั้งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 77 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497) กฎกระทรวงฉบับที่ 42 (พ.ศ. 2536) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้กำหนดวิธีการในการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร จำเลยย่อมสามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ได้รับผลตามวัตถุประสงค์ได้อยู่แล้ว กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายเหลื่อมกับนายกว้างเป็นโมฆะ ให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้โจทก์ทั้งสี่ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อของจำเลย หากโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 4 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาของโจทก์ที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 166 ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่ไม่สมบูรณ์ ให้จำเลยส่งมอบที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้ง 4ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนดังกล่าวอีกต่อไป คำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 166 ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ คำขออื่นตามฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายเหลื่อมในฐานะส่วนตัวและในฐานะบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ทั้งสี่ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์ได้โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของตนและส่วนของโจทก์ทั้งสี่ให้แก่นายกว้างโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายเหลื่อมกับนายกว้างจึงไม่มีผลผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่านายเหลื่อมได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้นายกว้างและจำเลยเข้าทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลาถึง 16 ปีเศษ ก็ต้องถือว่านายกว้างและจำเลยเข้ายึดถือที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่แทนโจทก์ทั้งสี่ จำเลยไม่อาจยกเอาระยะเวลาที่ตนเองกับนายกว้างเข้าทำนาในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสี่จนกว่าจำเลยกับนายกว้างจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อีกต่อไป แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่
แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายเหลื่อมกับนายกว้างจะไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วนายเหลื่อมได้ยอมให้จำเลยกับนายกว้างเข้าทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา ประกอบกับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งบุคคลมีเพียงสิทธิครอบครอง และอาจโอนการครอบครองให้แก่กันด้วยการส่งมอบทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 การที่นายเหลื่อมมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยกับนายกว้างเข้าทำนาจึงมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของนายเหลื่อมให้แก่จำเลยกับนายกว้าง จำเลยกับนายกว้างย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหกในสิบส่วน คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามสิทธิของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) แต่ที่จำเลยมีคำขอให้บังคับโจทก์ทั้งสี่ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์ทั้งสี่ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่จะขอให้บังคับเช่นนั้นได้ อีกทั้งตาม ป. ที่ดิน มาตรา 77 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497) กฎกระทรวงฉบับที่ 42 (พ.ศ. 2536) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้กำหนดวิธีการในการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร จำเลยย่อมสามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ได้รับผลตามวัตถุประสงค์ได้อยู่แล้ว โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมกับแนบคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดที่แสดงว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาท กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสี่ในสิบส่วน จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหกในสิบส่วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยเสียเกินมาให้แก่จำเลย.

Share