แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีศาลแรงงานสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา แล้วกำหนดวันเวลานัดพิจารณาและออกหมายเรียก ให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกแล้ว ถ้าจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องและศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคสอง จำเลยจะต้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและพิจารณาใหม่ตามมาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด จึงนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับไม่ได้ แต่การที่ศาลแรงงานจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด และพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 40 วรรคสอง ได้ จะต้องปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว มิฉะนั้นกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินไปย่อมเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ซึ่งจำเลย มีสิทธิขอให้เพิกถอนและพิจารณาคดีใหม่เมื่อใดก็ได้
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการส่งหมายเรียกไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือต้องส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย
จำเลยอ้างในคำร้องว่าบ้านเลขที่ที่ศาลแรงงานส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมาย ไม่ใช่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยเพราะจำเลยได้ย้ายออกไปอยู่ที่บ้านเลขที่อื่นตั้งแต่ก่อนโจทก์ยื่นคำฟ้อง หากได้ความตามคำร้องของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าได้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อใดก็ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าคอมมิชชั่นพร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานกลางกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลาดังกล่าวส่งให้จำเลยพร้อมสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายและให้มีผลเป็นการรับหมายทันที ครั้นถึงวันเวลานัดปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลาง จึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา แล้วพิจารณาคดีของโจทก์ทั้งสามไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าคอมมิชชั่นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำฟ้อง แล้วได้ออกคำบังคับส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยให้มีผลเป็นการรับคำบังคับทันที ณ บ้านเลขที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๓ และ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๒
วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๓ จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตลอดจนคำบังคับให้จำเลย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจนถึงชั้นบังคับคดี และพิจารณาใหม่ทั้งหมดหรืออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่ว ๆ ไปโดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ เท่านั้น กรณีศาลแรงงานสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา แล้วกำหนดวันเวลานัดพิจารณาและออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๗ เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกแล้ว ถ้าจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา ๔๐ วรรคสอง จำเลยจะต้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและพิจารณาใหม่ตามมาตรา ๔๑ คือต้องดำเนินการภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้บัญญัติไว้แล้วโดยเฉพาะ แต่การที่ศาลแรงงานจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามมาตรา ๔๐ วรรคสอง ได้จะต้องปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา ๓๗ แล้ว มิฉะนั้นกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินไปย่อมเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ซึ่งจำเลยมีสิทธิขอให้เพิกถอนและพิจารณาคดีใหม่เมื่อใดก็ได้ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการส่งหมายเรียกไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๓๑ คือต้องส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๔ (๒) คดีนี้จำเลยอ้างในคำร้องว่าบ้านเลขที่ ๕๑/๒๙๑ ที่ศาลแรงงานกลางส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายนั้นไม่ใช่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เพราะจำเลยได้ย้ายออกจากบ้านดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ก่อนโจทก์ทั้งสามจะยื่นคำฟ้อง ดังนี้ หากได้ความตามคำร้องของจำเลยย่อมถือไม่ได้ว่าได้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยชอบแล้ว เมื่อไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบจำเลยย่อม มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อใดก็ได้ ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ที่บ้านเลขที่ ๕๑/๒๙๑ จริงหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการไม่ถูกต้อง
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลย แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี.