คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัยพ์สินจำนองออกขายทอดตลาด ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองไว้เท่ากับภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ร้องว่าประสงค์จะให้นำทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องก่อน อันถือได้ว่าเป็นการขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 405,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์จากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมถึงหนี้สินของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่กับธนาคารดังกล่าวด้วย ผู้ร้องประสงค์จะขอกันส่วนโดยอาศัยอำนาจบุริมสิทธิจากทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ยึดไว้ ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตามภาระหนี้จำนองจำนวน 70,921,232.90 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิอันเป็นสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่เหนือทรัพย์ที่ยึดไว้ในคดีนี้อยู่แล้ว ทั้งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวให้ความคุ้มครองโดยไม่จำต้องยื่นคำร้องต่อศาล กรณีจึงไม่มีเหตุจะต้องพิจารณาคำร้องของผู้ร้อง จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย” ส่วนมาตรา 289 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดีหรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์…” เมื่อพิเคราะห์คำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดแล้ว การที่ผู้ร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองไว้เท่ากับภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้องนั้น แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ร้องว่าประสงค์จะให้นำทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องก่อน อันถือได้ว่าเป็นการขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share