แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสี่ กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เสนอคดีต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำร้องแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 โจทก์ต้องเสนอคดีต่อศาลภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 เป็นการเสนอคดีต่อศาลเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ให้โจทก์รื้อถอนอาคาร
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสิบ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 7 และที่ 9 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 7 และที่ 9 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมีการแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2541 โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 แต่โจทก์มิได้เสนอคดีต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ที่มิได้โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ออกคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารของโจทก์เลขที่ 85 หมู่ที่ 13 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนที่ต่อเติม โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1/2541 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ ตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 17 เมษายน 2541 ซึ่งโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 4 และ 5 ตามลำดับ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 17 บัญญัติว่า “ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เสนอคดีต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์” ส่วน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 มิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 52 วรรคสี่แต่ประการใด ฉะนั้น ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 17 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1/2541 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 17 เมษายน 2541 และโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 โจทก์จึงต้องเสนอคดีต่อศาลภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์คือภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 เป็นการเสนอคดีต่อศาลเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.