คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้าจำเลยใช้อาคารพิพาทที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40(2)ซึ่งมีโทษตามมาตรา 67 และ 70 เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต ได้รับแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารหรือบริเวณอาคารที่ดัดแปลงแล้ว จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวโดยใช้อาคารที่ดัดแปลงตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 40(2)ประกอบมาตรา 67 และ 70 ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลย มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยดัดแปลงอาคารอย่างไรหรือมิได้แนบคำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาท้ายฟ้องหาทำให้คำฟ้องของโจทก์กลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างปี 2526 จนถึงปัจจุบัน เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัย เลขที่ 17/20 หมู่ที่ 2แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ที่มีการคัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตลาดพร้าวได้แจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารหรือบริเวณอาคารที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามคำสั่งเลขที่ กท 9038/ ยธ 1174 ลงวันที่27 กุมภาพันธ์ 2539 โดยส่งให้จำเลยทราบทางไปรษณีย์ตอบรับตามภูมิลำเนาของจำเลยดังกล่าว และเจ้าพนักงานของสำนักงานเขตลาดพร้าวยังได้นำคำสั่งห้ามดังกล่าวไปปิดไว้โดยเปิดเผย ณ อาคารดังกล่าวด้วย จำเลยทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 แต่ยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารดังกล่าว โดยจำเลยและบริวารยังคงใช้อาคารส่วนที่ดัดแปลงโดยฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยตลอดมาจนถึงวันฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,40(2), 67, 70 และปรับจำเลยตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 40(2), 67, 70 จำคุก 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือนและปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท ตั้งแต่วันที่29 กุมภาพันธ์ 2539 จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ดัดแปลงส่วนไหนของอาคารมากน้อยเพียงใด ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหาที่จะต่อสู้คดีได้ และที่โจทก์ไม่แนบคำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาท้ายฟ้องเพื่อให้จำเลยมีโอกาสเข้าใจและต่อสู้คดีได้เต็มที่จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามจำเลยใช้อาคารเลขที่ 17/20 หมู่ที่ 2 แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานครที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40(2) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 67 และ 70 เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยเลขที่ 17/20 ที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต ได้รับแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆของอาคารหรือบริเวณอาคารที่ดัดแปลงตั้งแต่วันที่29 กุมภาพันธ์ 2539 แล้ว จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวโดยใช้อาคารที่ดัดแปลงตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 40(2)ประกอบมาตรา 67 และ 70 ดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลย มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้ว การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยดัดแปลงอาคารอย่างไรหรือมิได้แนบคำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาท้ายฟ้อง หาทำให้คำฟ้องของโจทก์ซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)ดังกล่าวแล้วเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
พิพากษายืน

Share