คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ. 4 นั้น มีข้อตกลงเรื่องการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรของโจทก์และจำเลย แม้จะเป็นข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนหย่ากันตามกฎหมายก็ตาม เมื่อยังไม่มีการยกเลิกย่อมมีผลใช้บังคับ เพราะไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้สามีภริยาทำข้อตกลงดังกล่าวไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ. 4
โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 มิถุนายน 2539 ซึ่งในขณะนั้นมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ 3/2535 และ 7/2537 ที่วินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ดังนั้นขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงมีอำนาจที่จะรับคดีของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ แม้ว่าต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ 3/2540 และ 4/2540 วินิจฉัยว่าคดีประเภทเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวก็ตาม ก็ไม่ทำให้อำนาจในการรับฟ้องและการพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ชอบมาตั้งแต่ต้นตามคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาเดิมนั้นเสียไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และเมื่อประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีครอบครัวดังวินิจฉัยมาแล้ว ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏขึ้นในชั้นอุทธรณ์ก็ได้มีการโอนคดีของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 มาตรา 15 วรรคสอง จึงถือได้ว่าการพิจารณาพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยชำระเงินเดือนละ 5,000 บาท ทุกวันที่ 29 ของเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่านางสาววรรณวิสัยและนายฉันท์เชษฐ์ ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์และจำเลยจะมีอายุครบ 30 ปี บริบูรณ์แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 27,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2539 จนกว่านางสาววรรณวิสัยและนายฉันท์เชษฐ์จะมีอายุ 30 ปี บริบูรณ์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 700 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า เดิมโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางสาววรรณวิสัย นางสาวผไทฉันท์ และนายฉันท์เชษฐ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2534 โจทก์กับจำเลยตกลงหย่ากันและได้ให้พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลยไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 โจทก์กับจำเลยจึงได้จดทะเบียนหย่ากันตามกฎหมายด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายและทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไว้ หลังจากนั้นจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแก่จำเลยเพียงบางส่วน ไม่ตรงตามจำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อเดือนตามที่ตกลงกันไว้ และค้างชำระมาตลอด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองตามข้อตกลงหรือไม่ และศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาพิพากษาคดีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหาแรกเห็นว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ. 4 แม้จะเป็นข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนหย่ากันตามกฎหมายก็ตาม เมื่อยังไม่มีการยกเลิกย่อมมีผลใช้บังคับเพราะไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้สามีภริยาทำข้อตกลงดังกล่าวไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ. 4 และไม่อาจปฏิเสธความรับผิดเป็นอย่างอื่นได้ ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาพิพากษาคดีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 มิถุนายน 2539 ซึ่งในขณะนั้นมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ 3/2535 และ 7/2537 วินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ดังนั้นขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงมีอำนาจที่จะรับคดีของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ แม้ว่าต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ 3/2540 และ 4/2540 วินิจฉัยว่าคดีประเภทเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวก็ตาม ก็ไม่ทำให้อำนาจในการรับฟ้องและการพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ชอบมาตั้งแต่ต้นตามคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาเดิมนั้นเสียไป ดังนั้นที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ดังกล่าวต่อมา กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และเมื่อประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีครอบครัวดังวินิจฉัยมาแล้ว ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฎขึ้นในชั้นอุทธรณ์ก็ได้มีการโอนคดีของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 วรรคสอง การพิจารณาพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share