แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการและหน้าที่อื่น ๆตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้นการที่คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ปรับปรุงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการเป็นตำแหน่งผู้จัดการ และมอบหมายให้จำเลยที่ 1ทำงานในตำแหน่งที่ปรับปรุง จึงเป็นการกระทำตามที่จำเลยที่ 1 ได้ให้ไว้ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าทำสัญญาค้ำประกันไว้นั่นเอง กรณีจึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ หรือขอให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันงานในหน้าที่ใหม่ ของจำเลยที่ 1 เสียก่อน
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 176,352.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วย จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ไว้ว่า การค้ำประกันตามสัญญาฉบับนี้เป็นการค้ำประกันตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำหนังสือสัญญจ้างจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2520 อันได้แก่หนังสือสัญญาจ้างซึ่งศาลหมาย จ.4นั่นเอง ปรากฏในข้อ 3 แห่งสัญญาดังกล่าวผู้รับจ้างรับรองที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการและหน้าอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้ อันแสดงว่าในการที่จำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวมิใช่จำเพาะเจาะจงแต่ทำงานในหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการแต่ประการเดียวเท่านั้น ถ้าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จะมอบหมายงานหน้าที่อื่น ๆ ให้ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับทำ การที่คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ปรับปรุงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการเป็นตำแหน่งผู้จัดการและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งที่ปรับปรุงนั้น ก็เป็นการที่คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มอบหมายหน้าที่อื่น ๆ ให้จำเลยที่ 1 ทำตามที่จำเลยที่ 1 ได้ให้สัญญาไว้ในข้อ 3 แห่งสัญญาดังกล่าวนั่นเอง หาเป็นการแต่งตั้งนอกเหนือไปจากสัญญาที่จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าทำสัญญาค้ำประกันไว้ไม่ กรณีจึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบหรือขอให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันงานในหน้าที่ใหม่ของจำเลยที่ 1 เสียก่อนดังที่จำเลยที่ 2 เข้าใจ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในการทำการเป็นลูกจ้างโจทก์ตามที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้แล้วไม่ชดใช้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ตามสัญญา”
พิพากษายืน