คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2106/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับว่าต้องระบุชื่อผู้ให้กู้และผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย จำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้กับได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้ว แต่สัญญากู้เงินได้เว้นช่องผู้ให้กู้และกำหนดเวลาชำระเงินคืนไว้ เมื่อโจทก์เป็นผู้ให้กู้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะลงชื่อเพื่อเป็นหลักฐานในการนำคดีมาฟ้องร้องได้ ส่วนการที่โจทก์กรอกข้อความกำหนดชำระเงินคืนนั้น ข้อความดังกล่าวจะระบุไว้หรือไม่ก็ตาม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับแก่จำเลยได้เสียไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 70,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยในวันที่ 1 มกราคม 2535 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยมิได้ชำระหนี้จึงขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญานับแต่วันกู้เงินจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 50,773 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 120,773 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 70,000บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้อง จำเลยทำให้ไว้แก่นางไพรวัลย์ อิมะนันทน์ เพื่อมอบให้นางฉวีวรรณหรือนางจันทร์นวล ซึ่งได้ตกลงกับจำเลยว่าจะเป็นผู้ให้กู้โดยยังไม่ได้กรอกชื่อผู้ให้กู้และได้ตกลงกันว่าจะกรอกข้อความเกี่ยวกับการชำระเงินกู้คืนในภายหลัง การเขียนข้อความกำหนดเวลาชำระเงินกู้ในสัญญากู้เป็นการเพิ่มเติมข้อความในเอกสารโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 120,773 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ลงชื่อไว้ในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 1 หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องบังคับคดีได้โดยมิได้บังคับว่าต้องระบุชื่อผู้ให้กู้และผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย เมื่อจำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้วย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์หรือไม่ จำเลยนำสืบว่าจำเลยมีความจำเป็นต้องใช้เงิน 70,000 บาท จำเลยปรึกษากับนางไพรวัลย์ อิมะนันทน์ นางไพรวัลย์บอกว่าจะไปขอยืมจากนางจันทร์นวล แรมวัน และนางฉวีวรรณศรีพันธ์วงค์ โดยให้จำเลยเขียนสัญญากู้เงินโดยเว้นช่องผู้ให้กู้และกำหนดเวลาชำระเงินคืนไว้ แต่ในที่สุดจำเลยไม่ได้กู้เงินนั้น เห็นว่า จำเลยยอมรับว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงิน 70,000 บาท จึงขอให้นางไพรวัลย์ซึ่งเป็นอาหารแหล่งกู้เงินให้ เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยได้ลงชื่อไว้ในสัญญากู้เงินโดยระบุว่ากู้เงินไป 70,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 หากจำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงินแล้ว จำเลยคงไม่ลงชื่อไว้ในสัญญากู้เงิน ซึ่งจำเลยเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์ มีการศึกษา ย่อมรู้ดีว่าการลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินมีผลให้ตนต้องผูกพันที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้กู้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินกู้ไปแล้วจำนวน 70,000 บาท แม้จำเลยต่อสู้ว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินโดยเว้นช่องผู้ให้กู้และกำหนดเวลาชำระเงินคืนไว้ก็ตามและโจทก์ได้ลงชื่อในช่องผู้ให้กู้รวมทั้งกรอกข้อความในเอกสารโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยนั้นเห็นว่า ในปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 มิได้บังคับให้ผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย เมื่อผู้ใดเป็นผู้ให้กู้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะลงชื่อเพื่อเป็นหลักฐานในการนำคดีมาฟ้องร้องได้ ส่วนการกรอกข้อความกำหนดชำระเงินคืนนั้น ข้อความดังกล่าวจะระบุไว้หรือไม่ก็ตามก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับแก่จำเลยได้เสียไปไม่ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

Share