คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยกับพวกอีก 4 คนได้เข้าหุ้นร่วมกันทำการค้าตั้งภัตตาคาร และตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดแต่แล้วกิจการไม่ดีต้องเรียกค่าหุ้นเพิ่มอีก 200,000 บาท ในการเรียกค่าหุ้นเพิ่มนี้โจทก์จำเลยกับพวกได้ทำสัญญากันไว้ว่า ผู้ถือหุ้นทุกคนตกลงให้บริษัทฯกู้เงินจากโจทก์200,000 บาท และให้ลงบัญชีให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้บริษัทฯโดยไม่ต้องขอมติที่ประชุมบริษัทฯอีก จำเลยกับพวกอีก 4 คนยอมเป็นผู้ค้ำประกัน หากหนี้รายนี้ไม่มีวิธีอื่นหรือไม่สะดวกที่จะบังคับได้ ผู้ค้ำประกันยอมโอนขายหุ้นของแต่ละคนให้โจทก์ตามราคาในใบหุ้น ดังนี้ สัญญาที่ทำขึ้นนี้หาใช่สัญญาที่จำเลยกับพวกกู้เงินโจทก์ไม่ แต่เป็นสัญญาที่บริษัทฯเป็นผู้กู้ และจำเลยกับพวกเป็นผู้ค้ำประกันโดยกำหนดวิธีการแก้ไขให้โจทก์ได้เงินกู้คืนไว้ล่วงหน้าว่า ให้จำเลยกับพวกโอนขายหุ้นของตนให้โจทก์เท่านั้น เมื่อต่อมาไม่มีการตั้งบริษัทขึ้น และจำเลยกับพวกได้ขายหุ้นของตนที่มีอยู่ในภัตตาคารให้โจทก์ไปหมดทุกคนแล้ว ก็ย่อมเป็นอันเลิกแล้วต่อกัน ไม่มีหนี้ต่อกันอีก โจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญาดังกล่าวจากจำเลยตามส่วนเฉลี่ยที่จำเลยรับผิดชอบอีกหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นปี 2513 โจทก์กับพวกอีก 4 คนได้ร่วมกันเข้าหุ้นเพื่อดำเนินการค้าเป็นภัตตาคาร ตกลงกันจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดจะใช้ชื่อว่า ภัตตาคารทรายเงิน จำกัด และได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียน ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2513 ปรากฏว่าเงินค่าหุ้นที่เรียกไว้ไม่พอดำเนินการ แต่จะต้องทำการค้าต่อไป ผู้ถือหุ้นทุกคนตกลงเพิ่มค่าหุ้น โจทก์ได้ส่งมอบส่วนของโจทก์แล้ว แต่จำเลยกับพวกไม่มีเงิน จึงตกลงให้ภัตตาคารทรายเงินกู้เงินจากโจทก์ 200,000บาท และเมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้วตกลงกันว่า ให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้บริษัทเป็นเงิน 200,000 บาท ให้โจทก์เอาเงินบริษัทมาใช้หนี้โจทก์ จำเลยกับพวกได้รับเงิน 200,000 บาทไปจากโจทก์แล้ว และได้ลงชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยมิได้จัดการจดทะเบียนและกิจการภัตตาคารทรายเงินขาดทุน ต้องเลิกกิจการไป ฉะนั้นจำเลยกับพวกรวม5 คนคงเป็นหนี้โจทก์อยู่คนละ 60,000 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอศาลบังคับให้จำเลยชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา21 เดือน รวมทั้งสิ้น 42,450 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในเงินต้น 40,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาตามฟ้องจริง คือเมื่อต้นปี 2513โจทก์จำเลยกับพวกอีก 4 คนได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญดำเนินการค้าอาหาร ชื่อภัตตาคารทรายเงิน ต่อมากิจการไม่ดี หุ้นส่วนทุกคนตกลงขอกู้เงินจากโจทก์ 200,000 บาท ต่อมากิจการขาดทุนอีก จำเลยจึงโอนหุ้นให้โจทก์ในราคา 15,000 บาท โจทก์มีสิทธิถือหุ้นแทนจำเลยต่อไปและจำเลยก็ต้องหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินของห้างหุ้นส่วน และตัดฟ้องว่ากิจการภัตตาคารต้องชำระบัญชีเสียก่อน โจทก์จะฟ้องก่อนชำระบัญชีไม่ได้ กับว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และแม้จำเลยจะโอนหุ้นให้โจทก์ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมยกหนี้ 40,000 บาทให้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันว่า ภัตตาคารทรายเงินนี้ โจทก์จำเลยร่วมกับนายอุทิศ วัฒนาประทีป นายโปะโปย แซ่อุย นายตี๋ต๊องแซ่ยู่ และนายเองฮุยหรือนายโกเจ๊กร่วมกันตั้งขึ้นโดยตกลงกันจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด แต่แล้วกิจการไม่ดี ต้องมีการเรียกค่าหุ้นเพิ่มอีกสองแสนบาท แต่ก็ขาดทุนอีก และไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนดำเนินการต่อไปไม่ได้โจทก์จึงต้องดำเนินการต่อไปคนเดียวและล้มเลิกไปในที่สุด

จำเลยมีผู้ถือหุ้นร่วกันอีก 2 คน คือนายอุทิศและนายติกองหรือตี๋ต๊วงมา เบิกความสนับสนุนว่า เมื่อดำเนินกิจการต่อไปไม่ไหวนั้นในครั้งแรกต้องกู้เงินโจทก์อีกสองแสนบาท โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบ ต่อมาโจทก์ผู้ดำเนินการก็จะขยายงานออกไปอีก แต่ผู้ถือหุ้นส่วนมากไม่ตกลงหรือเห็นชอบด้วย ขอให้สะสางหนี้สินและจะโอนหุ้นให้โจทก์ โดยเมื่อเริ่มต้นนั้นโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือครึ่งหนึ่งเป็นเงินสองแสนบาท ส่วนอีก 5 คนคือจำเลยกับพวกคนละสี่หมื่นบาท โจทก์เป็นผู้เก็บเงินและผู้ดำเนินการ เมื่อมีการสะสางหนี้สินกันนั้นทุกคนที่ยอมโอนหุ้นให้โจทก์ต่างได้รับเงินสดคืนมาคนละสองหมื่นบาท แล้วไม่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนจำเลยนั้นชั้นแรกไม่ยอม แต่ต่อมาก็ยอมขายหุ้นคืนให้โจทก์เช่นเดียวกัน แต่ได้เงินคืนจากโจทก์เพียง 15,000 บาท เพราะโจทก์ถือว่าไม่ยอมโอนให้โดยดีเสียแต่แรก โดยโจทก์จ่ายเช็คราคา 10,000บาทให้ 1 ฉบับ ส่วนอีก 5,000 บาทโจทก์ทำหนังสือให้จำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 และ คืนเช็คเอกสารหมาย ล.3 ให้เป็นการหักหนี้ จำเลยมีผู้ถือหุ้นถึง 3 คนเบิกความประกอบกับเอกสาร ล.1, ล.2และ ล.3 ติดต่อกันฟังได้ชัดเจนเช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบภายหลังก็มิได้นำสืบหักล้างเอกสาร ล.2, ล.3 ให้เห็นเป็นอื่นแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ปัญหาจึงมีต่อไปว่า ถ้ากระนั้นแล้วระหว่างโจทก์กับจำเลยยังจะมีหนี้สินอะไรต่อกันอีกหรือไม่

โจทก์อ้างเอกสาร จ.1 เป็นหลักฐานว่า จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์อีก 40,000 บาท แต่ตามเอกสาร จ.1 นี้ปรากฏชัดว่าเป็นเรื่องบริษัทกู้ ไม่ใช่จำเลยหรือผู้ถือหุ้นกู้ เพราะข้อความบ่งชัดว่า “ผู้ถือหุ้นทุกคนตกลงให้บริษัทฯ กู้เงินจากนายสวัสดิ์ รุ่งอรุณ (ผู้ถือ) จำนวน200,000 บาท…” และเมื่อมีการไม่ชำระหนี้รายนี้แล้วก็หาระบุหรือกำหนดให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ร่วมกันชำระไม่ โดยระบุไว้ในสัญญา จ.1 ข้อ ข.ว่า “ให้ลงบัญชีเป็นเจ้าหนี้บริษัทฯ โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุมอีก” และในข้อ ค. ก็กลับระบุถึงความรับผิดของผู้ถือหุ้นว่าเป็นเพียงผู้ค้ำประกันเท่านั้น โดยระบุว่า “(ค) ผู้ถือหุ้นทุกคนบรรดาที่ลงชื่อในสัญญานี้ยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ค้ำประกัน…” และยังได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้อีกด้วยว่า “หากหนี้รายนี้ไม่มีวิธีอื่นหรือไม่สะดวกจะบังคับเอาได้ผู้ค้ำประกันยอมโอนขายหุ้นของแต่ละคนให้ผู้ให้กู้ในราคาในใบหุ้น”จึงเห็นได้ว่าสัญญา จ.1 ที่โจทก์ถือเป็นหลักฐานอันสำคัญยิ่งที่จะเรียกร้องเอาเงิน 40,000 บาทจากจำเลยนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงสัญญาค้ำประกัน ซึ่งกำหนดวิธีการแก้ไขให้ได้เงินคืนมาไว้ล่วงหน้าแล้วโดยเพียงแต่ผู้ถือหุ้นโอนขายหุ้นของตนคืนให้โจทก์เท่านั้น ทุกสิ่งก็หมดสิ้นต่อกัน ดังนั้นเมื่อผู้ถือหุ้นโอนขายส่วนของตนให้โจทก์คืนไปโจทก์ก็คืนเงินให้คนละ 20,000 บาท ต่ำกว่าที่ลงทุนก็คงเป็นเพราะกิจการขาดทุน จำเลยก็ได้โอนหุ้นขายให้โจทก์เช่นเดียวกัน แต่เป็นรายหลังสุด โจทก์จึงให้ราคาเพียง 15,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.1,ล.2 ดังนั้นหนี้สินระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่มีอะไรต่อกันอีก เพราะเมื่อได้ปฏิบัติต่อกันตามสัญญา จ.1 แล้วกรณีก็เป็นอันเลิกแล้วต่อกันที่โจทก์อ้างว่าเอกสาร ล.1 เป็นการหักหนี้กันตั้งแต่เริ่มลงหุ้นนั้นรับฟังเป็นจริงไม่ได้ เพราะเอกสาร ล.1 นี้ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องโอนหุ้น คือโอนขายหุ้นตามสัญญา จ.1 ของโจทก์นั่นเอง และปฏิบัติไปนั้นก็ชอบด้วยเหตุผลตามทางที่เป็นจริงแล้วด้วย เพราะกิจการขาดทุน จำเลยและหุ้นส่วนอีก 4 คนได้รับคืนไปคนละ 20,000 บาทจากเงินที่ลงทุนไปตอนแรกเริ่มคนละ 40,000 บาท คือได้รับผลเสียทุกคน หากโจทก์อ้างว่ายังมีหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์อีก 40,000 บาทตามส่วนเฉลี่ยของสัญญา จ.1 ดังที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้จริงแล้ว เหตุใดโจทก์ยังจะกลับชำระเงินให้จำเลยอีก 15,000 บาทตามเอกสาร ล.1,ล.2 หากเป็นหนี้กันจริงโจทก์ก็น่าจะต้องหักหนี้ไว้ และเรียกร้องให้จำเลยชำระให้โจทก์อีก 25,000 บาท หาใช่โจทก์ต้องชำระให้จำเลยอีก 15,000บาทตามเอกสาร ล.1, ล.2 นั้นไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า “แม้จำเลยจะโอนหุ้นให้โจทก์ก็ดี แต่โจทก์ก็ไม่ยอมยกหนี้เงิน 40,000 บาทให้แก่จำเลย” จึงไม่ถูกต้องเพราะขัดกับข้อความในสัญญา จ.1 ดังกล่าว และโจทก์ไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้

สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารสัญญา จ.1 ของโจทก์ที่โจทก์ถือเป็นเอกสารการกู้นั้น แท้จริงเป็นแต่เพียงสัญญาที่ให้อำนาจโจทก์บังคับผู้ถือหุ้นให้โอนขายหุ้นของแต่ละคนให้โจทก์ในราคาเท่าราคาในใบหุ้นเท่านั้น และเมื่อผู้ถือหุ้นได้โอนขายให้โจทก์ไปหมดทุกคนแล้วโดยต่างก็ได้รับเงินค่าขายหุ้นจากโจทก์ไปทุกคนคนละ 20,000 บาทสำหรับจำเลยได้รับเพียง 15,000 บาท กรณีก็เป็นอันเลิกแล้วต่อกันหามีหนี้สินอะไรต่อกันอีกไม่ ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ก็อาจเป็นเพราะเช็คราคา 10,000 บาทที่โจทก์ออกให้จำเลยนั้น จำเลยนำไปขึ้นเงินไม่ได้ จึงต้องฟ้องและได้รับชำระ 5,000 บาท โจทก์ผูกใจเจ็บแค้น จึงฟ้องจำเลย ดังข้อนำสืบของจำเลยก็เป็นได้ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก 40,000 บาทนั้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share