แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยตามสัญญาไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระหนี้โดยไม่จำต้องบอกกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 652 ก่อนได้ จำเลยฎีกาว่า จำเลยขอถือเอาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดที่จำเลยได้หยิบยกเอามาบรรยายไว้ในฎีกาในเบื้องต้นเป็นฎีกาส่วนหนึ่งของจำเลยปรากฏตามคำฟ้องฎีกาของจำเลยเพียงว่า จำเลยได้หยิบยกเอาข้อความที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมากล่าวว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าอย่างไรศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอย่างไร โดยจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดข้อไหน อย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่19 กันยายน 2520 จำนวนเงิน 120,000 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน2520 จำนวนเงิน 50,000 บาท ตกลงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืน ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย นับแต่กู้ยืมเงินจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี เป็นค่าดอกเบี้ย 90,000 บาท และ37,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 297,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้องลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงิน 2 ฉบับ ตามฟ้องเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 297,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 170,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนฟ้อง จำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ได้ความตามคำฟ้องว่าการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองครั้งตามสัญญาไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ ดังนั้น โจทก์ย่อมจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรกและมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระหนี้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652 ก่อนก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนฟ้องแล้วหรือไม่ จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อ 2.1 ว่า จำเลยขอถือเอาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดที่จำเลยได้หยิบยกเอามาบรรยายไว้ในฎีกาในเบื้องต้นเป็นฎีกาของจำเลยส่วนหนึ่งก็ปรากฏตามคำฟ้องฎีกาของจำเลยเพียงว่าจำเลยได้ยกเอาข้อความที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมากล่าวว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าอย่างไร ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอย่างไร แต่จำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดข้อไหนอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.