คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมที่ดินโดยเฉพาะ เมื่อความปรากฎว่ามีการออกโฉนดหรือจดทะเบียนสิทธิผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายและความจริงโดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายเสียเวลาไปฟ้องร้องต่อศาล การใช้อำนาจของอธิบดีตามมาตรานี้ย่อมอยู่ในดุลพินิจของอธิบดีว่าสมควรจะใช้หรือไม่ ไม่ใช่เป็นการกำหนดหน้าที่ให้อธิบดีจำต้องกระทำ เมื่ออธิบดีไม่ใช้อำนาจดังกล่าว จึงไม่เป็นผิดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามใบไต่สวนเลขที่ ๒๐๓ และที่ดินมือเปล่าซึ่งโจทก์ครอบครองมาประมาณ ๒๐ ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๔ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ แต่มีผู้ร้องคัดค้าน เรื่องอยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าพนักงานที่ดิน ต่อมานายขัณฑ์ได้ขอรังวัดสอบเขตที่ดินซึ่งอยู่ติดกับโจทก์ นายขัณฑ์ได้นำชี้เขตที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ของโจทก์ประมาณ ๑๐ ไร่ ด้วยความประมาทเลินเล่อ เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดให้แก่นายขัณฑ์ไปเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๒ และนายขัณฑ์ได้ขายให้แก่นายชวน ชวนิชย์ เมื่อโจทก์ทราบเรื่องจึงได้ร้องคัดค้าน กรมที่ดินมีคำสั่งให้สอบสวนเรื่องเงียบหายไปนาน โจทก์จึงมีหนังสือบร้องเรียนไปยังกรมที่ดินขอทราบผลของการดำเนินการและขอให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๑ จำเลยตอบมาว่า กำลังสอบสวนอยู่ โจทก์ไม่อาจรอต่อไปได้ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๑ และให้จำเลยออกโฉนดให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถจะทำได้ ก็ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การต่อสู้ว่า การที่จำเลยจะใช้อำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้นั้น จะต้องปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าได้มีการออกไปโดยคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นอำนาจของจำเลยที่จะใช้ดุลพินิจสั่งการโดยเฉพาะว่ามีเหตุผลสมควรที่จะสั่งหรือไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามมาตรา ๖๑ นี้ จำเลยได้ให้โจทก์นำหลักฐานมาแสดง เมื่อโจทก์ไม่นำหลักฐานมาแสดง จำเลยจึงพิจารณาสั่งการตามมาตรา ๖๑ ไม่ได้ ที่ดินพิพาทนั้นนายชวนได้ครอบครองมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว โจทก์จึงขาดอายุความครอบครอง ๑ ปี และขาดอายุความ ๑๐ ปีตามกฎหมาย โจทก์ทราบว่าเจ้าพนักงานของจำเลยละเมิดต่อโจทก์ และไม่ได้ฟ้องโจทก์ภายในกำหนด ๑๐ ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงบางประการ ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานแล้วพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๖๑ บัญญัติว่า”เมื่อความปรากฎว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนที่ดินให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือเอกสารที่ได้จดทะเบียนและนิติกรรมหรือเอกสารที่ได้จดทะเบียนแจ้งรายการทะเบียนที่ดินนั้นมาแก้ไขให้ถูกต้องหรือเพิกถอนได้” นั้น เป็นอำนาจที่กฎหมายให้แก่อธิบดีกรมที่ดินโดยเฉพาะในเมื่อความปรากฎว่ามีการออกโฉนดหรือจดทะเบียนสิทธิผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายและความจริง โดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายเสียเวลาไปฟ้องร้องต่อศาล การใช้อำนาจของอธิบดีตามมาตรานี้ย่อมอยู่ในดุลพินิจของอธิบดีว่าสมควรจะใช้หรือไม่ กฎหมายมาตรานี้มิได้กำหนดหน้าที่ให้อธิบดีจำต้องกระทำดังโจทก์เข้าใจไม่ ถ้าอธิบดีไม่ใช้อำนาจนี้ โจทก์ก็มีทางแก้ไขโดยยื่นฟ้องผู้ที่ทำให้โจทก์เสียหายต่อศาลได้ การที่อธิบดีไม่ใช้อำนาจดังกล่าวจึงไม่เป็นผิดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
เมื่อจำเลยไม่ได้ละเมิดต่อโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องอายุความ
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายชั้นฎีกาเป็นเงิน ๕๐๐ บาทแก่จำเลย

Share