คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2096/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โรงงานกระสอบป่านไม่เป็นนิติบุคคล อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมโจทก์ โจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านมีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย และตามข้อบังคับว่าด้วยการบริหารโรงงานกระสอบป่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2515 ข้อ 17 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการไว้ว่า ให้คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมการบริหารงานโดยทั่วไปของโรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้โรงงานดำเนินกิจการไปตามวัตถุประสงค์ในขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ทำสัญญาได้ไปราชการต่างประเทศคณะกรรมการอำนวยการโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงมีมติให้ผู้จัดการโรงงานกระสอบป่านเป็นผู้รักษาการแทนและลงนามแทนผู้อำนวยการ ผู้จัดการโรงงานจึงลงนามแทนในสัญญาซื้อขายกับจำเลยได้ ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามสัญญาซื้อขายที่ผู้จัดการโรงงานลงนามไว้ได้

ย่อยาว

โจทก์โดยนายวีระ สุสังกรกาญจน์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโจทก์ และโรงงานนี้มีคณะกรรมการบริหารงานและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของโรงงานและการดำเนินกิจการในนามของโจทก์ และอยู่ในอำนาจกำกับการทั่วไปของโจทก์ในการดำเนินงานของโรงงานกระสอบป่านเกี่ยวกับการซื้อขาย เช่นให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ ขนส่ง ยืม ฝากของในคลังสินค้าการเอาประกันภัย โจทก์โดยอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจทำนิติกรรมใด ๆ ดังกล่าวได้ โจทก์นายอุดมศักดิ์ ภาสะวณิช ผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านได้ทำสัญญาซื้อกระสวยเครื่องทอจากจำเลย และจำเลยรับรองว่าจะส่งมอบสิ่งของตามสัญญาให้ถูกต้องตามแบบที่ตกลงกันให้โจทก์ภายในกำหนดเวลา ถ้าจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดตามสัญญา จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินร้อยละ 5 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่ง ทั้งยอมให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจัดซื้อสิ่งของที่จำเลยไม่ส่งมอบจากผู้อื่น และยอมจ่ายเงินชดใช้ราคาที่สูงขึ้นแก่โจทก์ด้วย เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยไม่สามารถส่งมอบสิ่งของตามสัญญาให้โจทก์ได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัด และจำเลยขอยุติการปฏิบัติตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องซื้อกระสวยจากผู้อื่นซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ตกลงซื้อจากจำเลยเป็นเงิน 20,900 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์พร้อมด้วยค่าปรับ 2,394 บาท ขอให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหายและค่าปรับพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายวีระ สุสังกรกาญจน์ จะเป็นตัวแทนมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์หรือไม่ไม่ทราบ สัญญาซื้อขายไม่มีผลผูกพันจำเลย เพราะโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายอุดมศักดิ์ ภาสะวณิช ผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านเป็นผู้ทำแทนโจทก์ แต่ในสัญญาตอนท้ายเป็นนายธนูวีชะรังสรรค์ผู้จัดการโรงงานกระสอบป่านซึ่งทำแทนผู้อำนวยการตามมติของคณะกรรมการอำนวยการลงนามเป็นผู้ซื้อ การที่ผู้รับมอบอำนาจได้มอบให้บุคคลอื่นทำแทนอีกต่อหนึ่ง ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเจตนาของผู้มอบเป็นโมฆะ สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาซื้อขายตามคำพรรณา มิได้ถือเอาตัวอย่างสินค้าที่ซื้อขายเป็นสารสำคัญ จำเลยได้สั่งสินค้ากระสวยมาส่งมอบให้โจทก์ภายในกำหนดตามสัญญา แต่โจทก์แจ้งว่ากระสวยที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์ไม่ตรงกับความประสงค์ของโจทก์จำเลยได้เสนอให้โจทก์พิจารณาโจทก์กลับชี้ ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งของไม่ถูกต้องตามสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าเสียหาย ในการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยได้วางเงินมัดจำไว้กับโจทก์ 945 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลย และโจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ยอมรับกระสวยรวมเป็นเงิน 3,086.63 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนเงินมัดจำ 945 บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยมีผลผูกพันให้จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญา บุคคลที่ลงนามในสัญญาในฐานะผู้ซื้อมีอำนาจตามกฎหมายที่ทำแทนโจทก์ได้ ทั้งจำเลยได้ยอมรับและถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ส่งมอบสิ่งของไม่ถูกต้อง โจทก์จึงมีสิทธิริบมัดจำ และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า นายวีระ สุสังกรกาญจน์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รักษาการแทนอธิบดี มีอำนาจลงนามแทนโจทก์ฟ้องจำเลย และนายธนู วีชะรังสรรค์ ผู้จัดการโรงงานกระสอบป่านตามมติคณะกรรมการอำนวยการลงนามในสัญญาซื้อขายแทนผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านเป็นการชอบตามหนังสือมอบอำนาจที่ผู้อำนวยการได้รับ และจำเลยผู้ขายได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย ทั้งได้วางมัดจำและชำระหนี้บางส่วนแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษายกฟ้องแย้ง และให้จำเลยใช้เงินพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่นายธนู วีชะรังสรรค์ผู้จัดการโรงงานกระสอบป่านรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่าน ตามมติของคณะผู้อำนวยการลงนามแทนโจทก์ในฐานะผู้ซื้อในสัญญาซื้อขายไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โรงงานกระสอบป่านกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโจทก์ซึ่งเป็นกรมในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมการบริหารของโรงงานกระสอบป่านมีข้อบังคับว่าด้วยการบริหารโรงงานกระสอบป่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2515 ให้อยู่ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการอำนวยการของโรงงานกระสอบป่าน โรงงานกระสอบป่านไม่เป็นนิติบุคคล กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเป็นผู้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของโรงงานกระสอบป่าน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านมีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย แต่นายอุดมศักดิ์ ภาสะวณิชผู้อำนวยการโรงงานกระสอบป่านไปราชการต่างประเทศ นายธนู วีชะรังสรรค์ ผู้จัดการโรงงานกระสอบป่านรักษาการแทนผู้อำนวยการตามมติคณะกรรมการอำนวยการลงนามแทนผู้อำนวยการในหนังสือซื้อขายในฐานะผู้ซื้อ จำเลยนำของมาส่งให้โจทก์ไม่ถูกต้องตามสัญญา เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยส่งของตามสัญญา จำเลยแจ้งขอผัดผ่อนและในที่สุดแจ้งว่าแหล่งผลิตอาจไม่ผลิตของให้จำเลย ขอโจทก์ยุติเรื่อง ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานของโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2515 ข้อ 17 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการไว้ว่า ให้คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมการบริหารงานโดยทั่วไปของโรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้โรงงานดำเนินกิจการไปตามวัตถุประสงค์ ขณะทำสัญญาซื้อขาย นายอุดมศักดิ์ ภาสะวณิชไปราชการต่างประเทศ การที่คณะกรรมการอำนวยการมีมติให้นายธนู วีชะรังสรรค์ ผู้จัดการโรงงานกระสอบป่านเป็นผู้รักษาการแทนและลงนามแทนผู้อำนวยการย่อมมีอำนาจทำได้ นายธนู วีชะรังสรรค์ผู้จัดการโรงงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการตามมติของคณะกรรมการจึงลงนามแทน ในสัญญาซื้อขายกับจำเลยได้ จำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากการที่นายธนูวีชะรังสรรค์ ไปทำสัญญากับจำเลยแล้วโดยมิได้คัดค้านว่านายธนู วีชะรังสรรค์ไม่มีอำนาจลงนามแทนผู้อำนวยการ สัญญาซื้อขายจึงมีผลผูกพันจำเลย จำเลยจะปฏิเสธไม่รับผิดชอบหาได้ไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share