แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็วสูงเสียหลักลื่นไถลออกนอกเส้นทางพุ่งชนรถยนต์คันที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับสวนทางมา โดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 นั่งโดยสารมาด้วย ทำให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้ทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหาย แม้จำเลยไม่คัดค้านในการที่โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ แต่การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในฟ้องว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าจำเลยจะคัดค้านหรือไม่ดังนี้ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) หรือมาตรา 5 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้เกี่ยวข้องกับบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาลของบุตรโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมาย มาตรา 300
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา จ่าสิบเอกประจักษ์ ผู้เสียหาย และนางสาวพัทธนันท์หรือวลาลัย ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้อง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าลากจูง 4,800 บาท ค่าซ่อมรถ 359,353.90 บาท ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 54,707 บาท ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 31,530 บาท ค่ารักษาพยาบาลบุตร 75,793 บาท ค่าโศกเศร้าเสียใจที่ต้องสูญเสียบุตรเป็นเงินคนละ 100,000 บาท รวม 200,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะในอนาคต 1,000,000 บาท ค่าเช่ารถระหว่างนำรถของโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าซ่อม เดือนละ 15,000 บาท 3 เดือน เป็นเงิน 45,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,770,183.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 328,800 บาท และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 200,000 บาท กับชำระเงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสองจำนวน 75,793 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 5 กรกฎาคม 2552) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 228,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 5 กรกฎาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 2 และในส่วนที่ให้ชำระเงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสองจำนวน 75,793 บาท ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในส่วนอาญา ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้แก่จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายอันมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายในคดีอาญาหมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็วสูงในสภาพถนนที่เป็นทางโค้งลาดชันลงเขาและเปียกลื่น ฝนตก ทัศนะวิสัยไม่ดี เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับเสียหลักลื่นไถลออกนอกเส้นทางเดินรถไปฝั่งตรงข้ามพุ่งชนกับรถยนต์คันที่จ่าสิบเอกประจักษ์ (โจทก์ร่วมที่ 1) ขับสวนทางมาโดยมีนางสาวพัทธนันท์หรือวลาลัย (โจทก์ร่วมที่ 2) นั่งโดยสารมาด้วย ทำให้จ่าสิบเอกประจักษ์ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้ทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหาย แม้จำเลยไม่คัดค้านในการที่โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ดังที่โจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในฟ้องว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าจำเลยจะคัดค้านหรือไม่ ดังนี้ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้ ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) หรือมาตรา 5 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิใช่ผู้เสียหายดังวินิจฉัยข้างต้น จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเพราะบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงแก่ความตาย และค่ารักษาพยาบาลของบุตรโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 รรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าว ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ ที่โจทก์ร่วมที่ 1 มีสิทธิเรียกจากจำเลยนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้เกี่ยวข้องกับบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาลของบุตรโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ