แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้ ส.ยึดถือไว้แทนสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์กู้ยืมเงินไปจาก ส.แต่จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์คดีอาญาซึ่ง ส.ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ว่า โจทก์ออกเช็คพิพาทแลกเงินสดไปจากจำเลยอันเป็นการออกเช็คพิพาทให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ฟ้อง คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวจำเลยย่อมมีความผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากในขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ซึ่งเป็นกฎหมายในคดีเดิมที่โจทก์นำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วและมีกฎหมายฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ออกมาใช้บังคับแทน ซึ่งการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนกรณีการออกเช็คพิพาทแล้วแลกเงินสดมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 อีกต่อไป ดังนี้ คำเบิกความของจำเลยในคดีนั้นจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีอันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีโจทก์ที่ 2 และนายกรกชเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นระหว่างนายสมศักดิ์ โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามนานาก่อสร้าง ที่ 1 นายลิขิตในฐานะส่วนตัว ที่ 2 จำเลย ตอบทนายโจทก์ตอนหนึ่งว่าประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 2 นำเช็คมาเปลี่ยนเป็นเช็คฉบับที่ฟ้อง ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2531 จำนวนเงิน565,984.66 บาท ตามเช็ค จ.1 โดยประทับตราจำเลยที่ 1 ลงชื่อจำเลยที่ 2 (ซึ่งเป็นโจทก์ทั้งสองคดีนี้ตามลำดับ) เป็นผู้สั่งจ่าย ยืนยันว่าถึงวันที่ลงในเช็คให้เรียกเก็บเงินได้ก่อนเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฉบับนี้ไปชำระหนี้ให้นายสมศักดิ์เป็นค่าช่วยซื้อที่ดินจากนายสถิตย์ที่จังหวัดอยุธยา ในราคา1,500,000 บาท โดยทำเป็นสัญญาขายฝากไว้ก่อนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 อันเป็นความเท็จ คำเบิกความดังกล่าวของจำเลยว่าโจทก์ทั้งสองได้ออกเช็คฉบับที่ฟ้องมาเปลี่ยนกับจำเลย เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ก่อนเช็คถึงกำหนดจำเลยนำไปชำระหนี้ให้นายสมศักดิ์ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จึงแสดงว่าโจทก์ทั้งสองกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 ซึ่งความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี หากศาลชั้นต้นเชื่อคำเบิกความของจำเลยก็จะต้องฟังว่าโจทก์ทั้งสองกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 และพิพากษาลงโทษโจทก์ทั้งสอง ความจริงแล้วโจทก์ทั้งสองออกเช็คดังกล่าวให้นายสมศักดิ์ยึดถือไว้แทนสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ที่ 1กู้ยืมเงินไปจากนายสมศักดิ์ ไม่ใช่ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งจำเลยรู้ดีอยู่แล้ว แต่กลับเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาทให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองประกอบกับคำเบิกความของจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องแล้ว โจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทให้นายสมศักดิ์ยึดถือไว้แทนสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากนายสมศักดิ์แต่จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1520/2532 ของศาลชั้นต้นซึ่งนายสมศักดิ์ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ว่า โจทก์ทั้งสองออกเช็คพิพาทแลกเงินสดไปจากจำเลยอันเป็นการออกเช็คพิพาทให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว จำเลยย่อมมีความผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากในขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ซึ่งเป็นกฎหมายในคดีเดิมที่โจทก์ทั้งสองนำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว มีกฎหมายฉบับใหม่ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ออกมาใช้บังคับแทน ปรากฏว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลังการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่กรณีการออกเช็คพิพาทแล้วแลกเงินสดมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่อยู่จริง ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534มาตรา 4 ดังนี้ คำเบิกความของจำเลยในคดีนั้น จึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีอันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง