คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นศาลฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด และคงเหลือแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในชั้นสอบสวนเท่านั้นจึงรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ที่มีอยู่ 2 ปากจะจำคนร้ายได้ ข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยดังกล่าวจึงอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340, 340 ตรี จำคุกคนละ 12 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสุนทรนามแก้ว กับนายดอน นามแก้ว เป็นประจักษ์พยาน นายสุนทรเบิกความยืนยันว่าจำคนร้ายได้ด้วยแสงตะเกียง แต่ในชั้นสอบสวนให้การว่าจำคนร้ายได้ด้วยแสงไฟฉายที่คนร้ายส่องหาทรัพย์สิน ส่วนนายดอนว่าก่อนนอนดับตะเกียงแล้ว จึงไม่น่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุมีแสงตะเกียง นายสุนทรกับนายดอนต่างรู้จักกับจำเลยที่ 1 เพราะเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน มีนาอยู่ใกล้กันและนายสุนทรกับจำเลยที่ 1 ยังเคยเรียนหนังสืออยู่โรงเรียนเดียวกัน แต่เมื่อไปร้องทุกข์คนทั้งสองมิได้ระบุชื่อคนร้ายโดยนายสุนทรอ้างว่ากลัวจะถูกฆ่า ซึ่งไม่ปรากฏว่าคนร้ายได้ข่มขู่หรือมีอิทธิพลเช่นนั้น ส่วนนายดอนเบิกความว่าตนเองกับนายสุนทรจำคนร้ายไม่ได้ นายสุนทรยังให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นทำนองไม่รู้จักคนร้ายมาก่อนว่าจากแสงไฟฉายของคนร้าย พยานจำคนร้ายได้หากพบเห็นอีก และตามคำของร้อยตำรวจเอกเสวี ฐิตะฐาน พนักงานสอบสวนก็ว่าผู้เสียหายสืบทราบตัวคนร้ายและนำไปจับจำเลยทั้งสาม ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ความว่าคนร้ายทั้งสามคนทาหน้าด้วยดินหม้อจนดำและใช้ใบตองทำเป็นหมวกคลุมลงมาถึงตา ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่น่าเชื่อว่า นายสุนทรกับนายดอนจำคนร้ายได้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นศาลฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด ก็คงเหลือแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในชั้นสอบสวนเท่านั้นซึ่งรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้

เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมาแล้วอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share