แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อบริษัทโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างรายเดือนให้แก่คนงาน อันเป็นเงินได้ พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) บริษัทโจทก์จึงมีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายค่าจ้าง ตามวิธีการในบทบัญญัติของมาตรา 50(1) โดยคำนวณภาษีจากจำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี หาจำต้องรอให้ครบรอบปีภาษีเพื่อให้มีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี และผู้มีเงินได้ ต้องยินยอมให้หักภาษีเสียก่อนไม่
บริษัทโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แต่มิได้หักและนำส่งเงินภาษีนั้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 52 จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 206 ลงวันที่ 15 กันยายน 2515 ข้อ 10 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 52 เดิม เพิ่มความตอนท้ายว่า “ไม่ว่า ตนจะไดัหักภาษีไว้แล้วหรือไม่” ก็เพื่อให้ได้ความชัดเจนขึ้นเท่านั้น หาใช่มาตรา 52 เดิมมีความหมายว่า เมื่อบริษัทโจทก์ไม่ได้หักภาษีไว้ก็ไม่มีหน้าที่นำส่ง และเมื่อ ไม่ต้องนำส่งจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ไม่
บริษัทโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 แต่มิได้หักภาษีและมิได้นำส่ง เงินภาษีนั้นตามมาตรา 52 บริษัทโจทก์จึงต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้ ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้หักและนำส่ง ตามมาตรา 54 วรรคแรก และภาษีเงินได้ดังกล่าวเป็นประเภทภาษีอากรประเมิน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีในหมวดภาษีเงินได้นี้ ตามมาตรา 38 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีจาก โจทก์ได้ แม้จะยังไม่ได้ประเมินเรียกเก็บเอาแก่ลูกจ้างผู้มีเงินได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างปี 2511 ถึงปี 2513 บริษัทโจทก์ทำการรับเหมาก่อสร้างและจ่ายเงินค่าจ้างให้กรรมกรหรือคนงานไปตามที่เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ทำการตรวจสอบไต่สวนแล้วปรากฏดังนี้ ในปี2511 จ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานก่อสร้าง 6,067 คน คนงานตอกเสาเข็ม781 คน เป็นเงิน 7,399,165.81 บาท ในปี 2512 จ่ายค่าจ้างให้คนงานก่อสร้าง9,606 คน คนงานตอกเสาเข็ม 30 คน เป็นเงิน 15,534,532.21 บาทและในปี 2513 จ่ายค่าจ้างให้คนงานก่อสร้าง 5,463 คน เป็นเงิน 10,590,107.50บาท โดยค่าจ้างที่จ่ายไปนั้นคนงานแต่ละคนได้รับตั้งแต่เดือนละ 420 บาทขึ้นไป และเมื่อคำนวณเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วจะได้จำนวนเงินเกินกว่า 5,000 บาท ทุกราย ซึ่งตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่บริษัทโจทก์มิได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณที่จ่ายเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในการจ่ายเงินค่าจ้างแก่คนงานดังกล่าวบริษัทโจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ทุกคราวที่จ่ายหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50(1) บัญญัติให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีดังนี้คือในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายได้ผลลัพท์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายไม่ลงตัวก็มีบทบัญญัติในวรรคสองของมาตรา 50(1) นี้ กำหนดวิธีปฏิบัติไว้แล้ว ฉะนั้น เมื่อบริษัทโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) บริษัทโจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายค่าจ้างตามวิธีดังกล่าว โดยคำนวณภาษีจากจำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่า ได้จ่ายทั้งปี หาจำต้องรอให้ครบรอบปีภาษีเพื่อให้มีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี และผู้มีเงินได้ต้องยินยอมให้หักภาษีเสียก่อนตามฎีกาของโจทก์ไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า เมื่อบริษัทโจทก์มิได้หักภาษีดังกล่าวไว้ บริษัทโจทก์จึงไม่มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีนั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 52 และไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ตามมาตรา 27 หรือไม่นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 52 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้บัญญัติว่า บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ ซึ่งมีหน้าที่หักภาษีตามมาตรา 50 ต้องนำเงินภาษีไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงิน ดังนี้ เห็นว่าเมื่อบริษัทโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ดังวินิจฉัยข้างต้น แต่มิได้หักและนำส่งเงินภาษีนั้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 52 กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 27 วรรคแรก ที่ว่า เงินภาษีอากรที่บุคคลใดจะต้องเสียหรือนำส่งตามบทบัญญัติในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ต้องเสียหรือนำส่งภายในเวลาตามแต่จะมีบทบัญญัติในหมวดนั้น ๆ กำหนดไว้ ฯลฯ ถ้าไม่เสียหรือนำส่งภายในกำหนดที่ว่ามานี้ ให้ผู้ต้องเสียหรือนำส่งนั้นเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่จะต้องเสียหรือนำส่ง เว้นแต่กรณีตามอนุมาตรา (1) และ (2) ให้เสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 5 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ทั้งเงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นค่าภาษีอากรด้วย จึงเห็นได้ว่า ตามมาตรา 52 ผู้มีหน้าที่หักภาษีตามมาตรา 50 หากมิได้หักและนำเงินภาษีนั้นไปส่งภายในกำหนด ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แม้ภายหลังจากเกิดกรณีพิพาทคดีนี้ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 206 ลงวันที่ 15 กันยายน 2515 ข้อ 10 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 52 คงให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีนำเงินภาษีนั้นไปส่งภายในกำหนดเช่นเดิม แต่เพิ่มความตอนท้ายว่า “ไม่ว่าตนจะได้หักภาษีไว้แล้วหรือไม่” นั้นก็เพื่อให้ข้อความชัดเจน มิให้เกิดข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่มาตรา 52 เดิมมีความหมายดังโจทก์ฎีกาโต้เถียงว่า เมื่อบริษัทโจทก์ไม่ได้หักภาษีไว้ ก็ไม่มีหน้าที่นำส่ง และเมื่อไม่ต้องนำส่งจึงมีผลให้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 เช่นนั้นไม่
ปัญหาสุดท้ายมีว่า เมื่อเจ้าพนักงานยังมิได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรกับกรรมการหรือลูกจ้างผู้มีเงินได้ บริษัทโจทก์จะต้องรับผิดเสียภาษีที่มิได้หักและนำส่งนั้นหรือไม่ เห็นว่าเมื่อบริษัทโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 แต่มิได้หักภาษีและมิได้นำส่งเงินภาษีนั้นตามมาตรา 52บริษัทโจทก์จึงต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง แม้เจ้าพนักงานยังมิได้ทำการประเมินเรียกเก็บเอาแก่กรรมกรหรือลูกจ้างผู้มีเงินได้ดังฎีกาโจทก์ก็ตาม ทั้งนี้ตามบทบัญญัติในมาตรา 54 วรรคแรก ที่ว่า ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 มิได้หักและนำเงินส่ง ฯลฯ ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง ฯลฯ นั้น และเห็นว่าภาษีเงินได้ตามฟ้องอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีในหมวดภาษีเงินได้นี้ตามมาตรา 38ฉะนั้น เมื่อบริษัทโจทก์มิได้หักและนำส่งเงินภาษี และยังคงต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้อยู่ตามมาตรา 54 ดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินภาษีนั้นจากโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทำการประเมินคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่มไปชำระ ตลอดทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน