คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส.พบรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยจึงขอรถยนต์คืน โดยนำหลักฐานสัญญาเช่าซื้อไปแสดงต่อจำเลย จำเลยไม่คืนให้โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าจำเลยได้รถยนต์มาอย่างไร และจำเลยยังเรียกร้องเอาเงินจาก ส.โดยอ้างว่าจำเลยนำรถยนต์ไปซ่อมอีกทั้งจำเลยกลับนำรถยนต์คันดังกล่าวที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอมและหมายเลขเครื่องยนต์ที่ถูกขูดลบแก้ไขไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขอออกใบแทนใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยแจ้งว่าหายทั้งที่รู้ว่าเป็นความเท็จพร้อมกับขอโอนรถยนต์จากผู้อื่นมาเป็นของจำเลย ขอเปลี่ยนสีและขอเสียภาษีรถยนต์ย้อนหลัง พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยครอบครองรถยนต์ดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจร เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอีกแต่ข้อหาฐานรับของโจรนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาฐานรับของโจรย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อาจลงโทษจำเลยฐานรับของโจรได้ จำเลยรู้อยู่แล้วว่าหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่มีหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขอออกใบแทนใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยไปแจ้งเจ้าพนักงานว่าหายทั้งที่รู้ว่าเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานใช้หมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม กับมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เอกสาร”ไว้ว่าหมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแบบแผนอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นจากบทนิยามดังกล่าวหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์จึงเป็นเอกสาร โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความว่า “จำเลยบังอาจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ” ซึ่งย่อมมีความหมายแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นความเท็จแม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องอีกว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จ ก็เป็นการเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่าคดีนี้ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ในข้อหายักยอกภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องกับที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แม้จะวินิจฉัยข้อฎีกาดังกล่าวของจำเลย ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาในข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,264, 265, 268, 335, 357, 91 ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของกลางและคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 137, 264, 265, 268 และมาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษความผิดตามมาตรา 352 ให้จำคุก 3 ปี ความผิดตามมาตรา 137 จำคุก6 เดือน ความผิดตามมาตรา 264, 265, 268 ให้ลงโทษตามมาตรา 268เพียงบทเดียว จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี 6 เดือน ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของกลาง คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายโสภณไปพบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-5982 อุดรธานี ที่ถูกคนร้ายลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยและขอรถยนต์คืนโดยนำหลักฐานสัญญาเช่าซื้อไปแสดงต่อจำเลย จำเลยก็ไม่คืนให้โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าจำเลยได้รถยนต์มาอย่างไร นอกจากนี้จำเลยยังเรียกร้องเอาเงินจากนายโสภณเป็นจำนวน 35,000 บาท โดยอ้างว่าจำเลยนำรถยนต์ไปซ่อมอีกทั้งจำเลยกลับนำรถยนต์คันดังกล่าวที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอมหมายเลขทะเบียน น-4521 เพชรบูรณ์ และหมายเลขเครื่องยนต์ที่ถูกขูดลบแก้ไขจากหมายเลข 12 อาร์ 2031772 เป็นหมายเลข 0533646ไปยื่นคำขอต่อพันตำรวจตรีเกษมเพื่อขอออกใบแทนใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยไปแจ้งว่าหายทั้งที่รู้ว่าเป็นความเท็จพร้อมกับขอโอนรถยนต์จากนายแล่มาเป็นของจำเลย ขอเปลี่ยนสี และขอเสียภาษีรถยนต์ย้อนหลัง พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยดังกล่าวประกอบกันบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจร เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอีก สำหรับข้อหาฐานรับของโจรนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ข้อหาฐานรับของโจรย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานรับของโจรได้ สำหรับข้อหาความผิดฐานปลอมหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารดังกล่าว คงฟังได้เพียงว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่มีหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขอออกใบแทนใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยไปแจ้งเจ้าพนักงานว่าหายทั้งที่รู้ว่าเป็นความเท็จการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานใช้หมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม กับมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ข้อที่จำเลยฎีกาว่า หมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสาร ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เอกสาร”ไว้ว่าหมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแบบแผนอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นจากบทนิยามดังกล่าวหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์จึงเป็นเอกสาร ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 องค์ประกอบข้อหนึ่งมีว่า จำเลยจะต้องรู้ว่าข้อความที่ตนแจ้งนั้นเป็นความเท็จ โจทก์จะต้องบรรยายมาในคำฟ้องจึงจะเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าอย่างไร และความจริงเป็นอย่างไร ทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความว่า “จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ” ซึ่งย่อมมีความหมายแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นความเท็จ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องอีกว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จ ก็เป็นการเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ในข้อหายักยอกภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ และพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง กับที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แม้จะวินิจฉัยข้อฎีกาดังกล่าวของจำเลยก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาในข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา137, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา91 ลงโทษตามมาตรา 137 จำคุก 6 เดือน ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาฐานยักยอกและข้อหาฐานปลอมเอกสารกับเอกสารราชการ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share