คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง หมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานอันเป็นลักษณะที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้างในขณะยังมีความสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาจ้างแรงงานแต่สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของสัญญา มิใช่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยไม่จัดตารางการทำงานให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 15มกราคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำผิดขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าล่วงเวลาที่จ่ายขาด ค่าจ้างที่โจทก์ทั้งสองทำงานระหว่างพักไม่ครบวันละ 1 ชั่วโมง ให้โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีกับคืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 1 ได้ออกจากงานไปเองเนื่องจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงและโจทก์ที่ 1 ไม่ทำสัญญากับจำเลยต่อไป ส่วนการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 เพราะโจทก์ที่ 2ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติและวันหยุด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 ที่โจทก์ที่ 1ทำกับจำเลย ปรากฏว่าลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 สัญญาจะครบ1 ปี คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยขีดฆ่าตารางวันทำงานของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2534 หรือไม่จัดให้ทำงานจึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ไม่มีความผิดจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย และจำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 1 ทำงานเกินเวลาในวันทำงานปกติและวันหยุดตามตารางวันทำงานที่จำเลยจัดให้ทำงานจำเลยได้ให้โจทก์ที่ 1 ทำงานโดยพักช่วงทำงานวันละ 30 นาทีจำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้าง โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ทำงานตั้งแต่วันที่4 พฤศจิกายน 2534 เนื่องจากจำเลยได้จัดตารางวันทำงานให้นางอำนวยทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยไม่มีความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์ที่ 2 ได้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติและทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ทำความเสียหายแก่จำเลย จำเลยต้องคืนเงินค้ำประกันความเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 49,800 บาท ค่าล่วงเวลาเป็นเงิน9,178.44 บาท, 10,195.85 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นเงิน2,900.15 บาท, 4,320 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ให้โจทก์ที่ 1 ทำงานโดยให้พักระหว่างทำงานวันละไม่ถึงชั่วโมงอีกเป็นเงิน 8,650.18 บาทกับให้จำเลยคืนเงินค้ำประกันความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์ที่ 1 ทำงานกับจำเลยโดยทำสัญญาจ้างเป็นปี ๆ เริ่มทำสัญญาครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2530 สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของทุกปี ในปี 2533 ได้ต่อสัญญาจ้างล่าช้าโดยทำสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 แต่ตอนท้ายของสัญญาจ้างดังกล่าวก็ระบุให้สัญญาจ้างมีผลย้อนไปเริ่มในวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2533 ตามเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.2 แผ่นที่ 2 สัญญาจ้างจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 เมื่อโจทก์ที่ 1ไม่ยอมต่อสัญญา ถือว่าสัญญาจ้างได้สิ้นสุดแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างดังกล่าวลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 สัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยขีดฆ่าตารางเวรทำงานของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2534 อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.2 แผ่นที่ 2 ลงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2533 ข้อ 9 ระบุว่า สัญญาจ้างมีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงานตามสัญญา และมีข้อความตอนท้ายสัญญาต่อจากที่ระบุผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 กำหนดว่าเริ่มวันที่2 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งมีความหมายชัดอยู่ในตัวแล้วว่าคู่สัญญาให้สัญญามีผลเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 สัญญาฉบับดังกล่าวมีกำหนดหนึ่งปี วันสุดท้ายตามสัญญาจ้างคือวันที่1 กุมภาพันธ์ 2534 เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงและโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ประสงค์ทำสัญญาจ้างใหม่กับจำเลยอีก ซึ่งการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน อันเป็นลักษณะที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้างในขณะยังมีความสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่กรณีของโจทก์ที่ 1 กับจำเลย เป็นเรื่องสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้วโดยผลของสัญญา มิใช่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ที่แก้ไขใหม่ ข้อ 46 วรรคสองจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share