คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2088/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นั้นจะต้องปรากฏในเบื้องต้นว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระแล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้นซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยนำเช็คมาแลกเงินสดจากโจทก์แสดงว่าก่อนออกเช็คจำเลยหาได้มีหนี้ต่อโจทก์ไม่ การออกเช็ค ของจำเลยจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังจำเลยจึงพ้นจาก การเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2493 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษกระทงความผิด จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื่องจากขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดกันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับและพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 3 บัญญัติว่า ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497(2) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2515″ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เมื่อได้มีการยื่นเช็คให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษ” ดังนั้น การออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องปรากฏในเบื้องต้นว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระแล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้นซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย แต่ในคดีนี้จำเลยนำเช็คมาแลกเงินสดจากโจทก์ แสดงว่าก่อนออกเช็คจำเลยหาได้มีหนี้ต่อโจทก์ไม่ การออกเช็คแลกเงินสดของจำเลยจึงมิใช่การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังจำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share