คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาคารพาณิชย์เลขที่ 35 และ 36 ที่โจทก์และจำเลยเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แม้มีเพียงสิทธิการเช่า แต่สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้ เมื่อได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส และตรงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยจึงต้องแบ่งสินสมรสให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,350,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 มีนาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 มีนาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และชำระเงินแก่นายพงศ์กร นายฤทธิพงศ์ และนางสาวนิศาชล คนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากันที่สำนักทะเบียนอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยบันทึกการหย่าว่า อยู่กินกันมาเป็นเวลา 17 ปี มีบุตร 4 คน คือ นายพงศ์กร เด็กชาย ฤ. เด็กหญิง น. และเด็กชาย ศ. ตกลงให้อยู่ในความปกครองของจำเลยฝ่ายเดียว มีทรัพย์สินประมาณ 3,000,000 บาท ตกลงหักหนี้สินประมาณ 700,000 บาท หักค่าการศึกษาบุตร 4 คน คนละ 100,000 บาท ที่เหลือแบ่งโจทก์และจำเลยคนละเท่ากัน ให้บุตรอยู่ในความเลี้ยงดูของบิดา หากบุตรไม่สามารถอยู่กับจำเลยได้ให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าการศึกษาบุตรคืนตามสำเนาทะเบียนการหย่าและบันทึกต่อท้าย สำหรับค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสี่จำเลยไม่อุทธรณ์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธิการเช่าอาคารเป็นสินสมรสหรือไม่ เห็นว่า แม้อาคารเลขที่ 35 และ 36 มีเพียงสิทธิการเช่า แต่สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้ เมื่อสิทธิการเช่าได้มาระหว่างสมรสก็เป็นสินสมรส ทั้งได้ความว่าอาคารดังกล่าวโจทก์และจำเลยปรับปรุงเป็นห้องให้เช่า เมื่อมีสิทธิการเช่าเท่ากับเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในตัวอาคารเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของอาคารนั่นเอง การที่โจทก์เบิกความว่าเป็นเจ้าของอาคาร จึงเป็นการเข้าใจดังเช่นประชาชนทั่วไป นอกจากนี้โจทก์ก็เบิกความว่าเช่าอาคารจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่ามีสิทธิการเช่าอันเป็นสินสมรสนั่นเอง ตรงตามที่บรรยายฟ้องว่ามีสินสมรสโดยไม่ได้ระบุตัวอาคาร ทั้งบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าซึ่งแนบมาท้ายฟ้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องก็ระบุเพียงว่ามีสินสมรสร่วมกัน มิได้ระบุว่าอาคารเป็นสินสมรส เมื่อสิทธิการเช่าเป็นสินสมรสจึงตรงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตามฟ้อง และบันทึกท้ายการหย่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share