คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการต่อท่อสูบถ่ายน้ำมันเบนซินจากเรือบรรทุกน้ำมันเข้าคลังน้ำมันของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เมื่อเดินเครื่องสูบน้ำมันแล้วเป็นเหตุให้น้ำมันเบนซิน 5,195 ลิตร รั่วไหลตกลงไปในแม่น้ำแผ่กระจายไปบนผิวน้ำถ่านที่เหลือจากการหุงต้มทิ้งลงในแม่น้ำตามปกติทำให้เกิดไฟลุกไหม้น้ำมันเบนซินบนผิวน้ำลุกลามไหม้บ้านเรือนทรัพย์สินของโจทก์อย่างรวดเร็วเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ดำเนินกิจการคลังน้ำมันร่วมกันโดย ช. ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการคลังน้ำมันร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้เป็นนายจ้างร่วมกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 34 ราย รวมเป็นเงิน 6,005,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ไปดับเอาเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกาจากที่เกิดเพลิงไหม้นั้นอยู่ห่างท่าเทียบเรือบรรทุกน้ำมันเปโตรซาตูไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร เหตุเกิดจากน้ำมันเบนซินที่ลอยอยู่บนพื้นน้ำแล้วมีผู้ทิ้งเชื้อเพลิงลงไปทำให้เกิดไฟลุกไหม้ลุกลามติดบ้านเรือนราษฎรท่าเทียบเรือประมง แพปลาซึ่งปลูกอยู่เรียงรายหนาแน่นชิดกันและยื่นออกไปในแม่น้ำฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำตรัง” ฯลฯ

“จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการสูบถ่ายน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันเข้าคลังน้ำมัน และตรวจดูความเรียบร้อยการสูบถ่ายน้ำมันในวันเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และนายสมัครซึ่งมิได้มีหน้าที่ในการต่อท่อน้ำมัน ทำการต่อท่อน้ำมันไม่เรียบร้อย ไม่แนบสนิทเป็นเหตุให้น้ำมันเบนซินรั่วไหลตกลงไปในแม่น้ำเป็นจำนวนประมาณ 5,195 ลิตรจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ด้วยที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 และนายสมัครต่อท่อน้ำมันให้เรียบร้อย พันตำรวจเอกทศ ธรรมกุล ได้ให้การในชั้นสอบสวนว่าน้ำมันเบนซินที่ลอยอยู่บนผิวน้ำมีปริมาณมาก หากมีการหุงต้มด้วยเตาถ่านที่อยู่บนผิวน้ำในที่โล่งแจ้งห่างประมาณ 1 เมตร ไอระเหยของน้ำมันเบนซินย่อมติดไฟได้ หรือถ้าหากทิ้งถ่านที่ยังลุกติดไฟอยู่ ก็ยิ่งติดไฟได้อย่างแน่นอนปรากฏตามสำนวนการสอบสวนอันดับที่ 45 เมื่อประกอบกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 421/2516 หมายเลขแดงที่ 414/2520 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 5 (ศาลจังหวัดตรัง) ศาลพิพากษาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำโดยประมาท ทำให้น้ำมันรั่วจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการต่อท่อสูบถ่ายน้ำมันเบนซินจากเรือเปโตรซาตูเข้าคลังน้ำมันของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เมื่อเดินเครื่องสูบน้ำมันแล้วเป็นเหตุให้น้ำมันเบนซินจำนวนประมาณ 5,195 ลิตร รั่วไหลตกลงไปในแม่น้ำแผ่กระจายไปบนผิวน้ำตามน้ำไปทางทิศเหนือ เมื่อนางนวลทิ้งเตาถ่านที่เหลือจากการหุงต้มลงไปในแม่น้ำตามปกติที่เคยทำ จึงทำให้เกิดไฟลุกไหม้น้ำมันเบนซินบนผิวน้ำลุกลามไหม้บ้านเรือนทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างรวดเร็ว เหตุที่เกิดเพลิงจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวมาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น” ฯลฯ

“ทางพิจารณาก็ได้ความว่า กิจการคลังน้ำมันที่อำเภอกันตังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ดำเนินการนั้นก็คือกิจการคลังน้ำมันโมบิลออยล์แห่งเดียวกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีสำนักงานอยู่ที่คลังน้ำมันแห่งนี้ การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็คือจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของกิจการคลังน้ำมัน จำเลยที่ 3 ประกอบการค้าน้ำมัน สั่งน้ำมันชนิดต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายที่อำเภอกันตังโดยเก็บไว้ในคลังน้ำมันแห่งนี้ เมื่อเรือบรรทุกน้ำมันมาส่งที่อำเภอกันตัง จำเลยที่ 4 จะเป็นผู้สูบถ่ายน้ำมันจากเรือเข้าเก็บรักษาในคลังน้ำมัน เป็นผู้ดูแลความปลอดภัย และส่งน้ำมันออกไปให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยที่ 4 ได้รับค่าตอบแทนตามปริมาณน้ำมันที่ผ่านคลังน้ำมันนี้จากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ยังเบิกความในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เมื่อมีการสูบถ่ายน้ำมัน นายชิตลูกจ้างจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2 ลูกจ้างจำเลยที่ 3 จะต้องมาที่เรือทุกครั้ง” ฯลฯ

“ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ดำเนินกิจการคลังน้ำมันร่วมกัน โดยมีนายชิต ถิระมงคล ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการดูแลคลังน้ำมันร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 3 การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวมาข้างต้น จึงถือได้ว่าได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้เป็นนายจ้างร่วมกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย”

พิพากษายืน

Share