คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การแก้ไขคำฟ้องนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและ วิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากรพ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17
การแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179 จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาข้ออ้างที่มีต่อจำเลยอันกล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก โดยการเพิ่มหรือลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์
คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ขอแก้ไขคำฟ้องจากชื่อโจทก์ว่า “คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์โดยนางบังอรลำยองเสถียร ผู้จัดการคณะบุคคล” เป็น “คณะบุคคล บังอร-พงศ์วิทย์โดยนางบังอรลำยองเสถียรผู้จัดการคณะบุคคลในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์พนาพิศาล” และขอแก้ไขข้อความในคำฟ้องเดิมเพิ่มเติมว่า”ในการยื่นฟ้องนี้นางบังอรกระทำในฐานะผู้จัดการคณะบุคคล ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์ด้วยโดยนายพงศ์วิทย์มอบอำนาจให้นางบังอรเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน” เป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามมาตรา 67 เข้ามาในภายหลังจึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผล
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติถึงผู้ที่จะเป็นคู่ความไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตาม มาตรา 1(11)”คู่ความ” หมายความว่า บุคคลผู้อื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และคำว่า บุคคล นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์ โจทก์ เป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตาม ประมวลรัษฎากรมีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษีเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว โดยบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินของ คณะบุคคลนั้นเพื่อเสียภาษีอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียน ตาม บทบัญญัติแห่งลักษณะ 22 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่านางบังอรและนายพงศ์วิทย์ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว ผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน จึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์” ประกอบด้วยนางบังอร ลำยองเสถียรและนายพงศ์วิทย์ พนาพิศาล โดยมีนางบังอร เป็นผู้จัดการคณะบุคคลมีอำนาจกระทำการแทนคณะบุคคลได้ จำเลยเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2537โจทก์ได้ทำสัญญารับจ้างเข้าทำการดูแลรักษาผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลเมืองราชของบริษัท ก. วสุพล จำกัด โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์และยารักษาโรคของโรงพยาบาล ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการมาดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โจทก์จะเป็นผู้จ่ายเองและได้ตกลงค่าตอบแทน ดังนี้ หากผู้ป่วยเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเองให้โจทก์เรียกเก็บค่าตรวจรักษาจากผู้ป่วยไม่เกินอัตราที่โรงพยาบาลกำหนด โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนค่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร้อยละ 10 อัลตราซาวด์และค่าเอกซเรย์อื่นร้อยละ 30 ของค่าตรวจรักษา วันที่ 18 กันยายน 2540 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. 2538 เพิ่มอีกพร้อมเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 253,120 บาท โดยเจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่าเงินได้ของโจทก์ที่ได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระในโรงพยาบาลเมืองราชต้องนำไปคำนวณเงินได้ประเภทเงินค่าตอบแทนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(2) โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กับให้จำเลยคืนเงินภาษีเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน 306,933 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคณะบุคคลมิได้มีฐานะเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นเพียงหน่วยเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น นางบังอร ลำยองเสถียรและนายพงศ์วิทย์ พนาพิศาล มิได้มีการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันโดยมีความประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น หากแต่เป็นเพียงการรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลเพื่อทำให้ตนได้รับประโยชน์ในทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และนางบังอรก็ไม่มีอำนาจเป็นผู้จัดการในการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีและเงินเพิ่ม และต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยนั้นจึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมาย จำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. 2538 เพิ่มเป็นเงินจำนวน 199,307 บาทพร้อมเงินเพิ่มอีกเป็นเงิน 53,812 บาท รวมเป็นเงิน 253,120 บาท โดยจำเลยอ้างว่าเงินได้ของโจทก์จำนวน 1,469,578 บาท ที่ได้มาจากการประกอบวิชาชีพอิสระในโรงพยาบาลเมืองราชต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้ประเภทค่าตอบแทนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์กับให้จำเลยคืนเงินภาษีเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้มีฐานะเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินได้ของโจทก์จำนวน 1,469,578 บาทเป็นเงินได้ที่เกิดจากการทำงานให้บริษัท ก. วสุพล จำกัด ตามสัญญาว่าจ้างจึงเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) มิใช่เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาก่อนถึงวันนัดชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจำนวน 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นการแก้ไขคำฟ้องในส่วนของชื่อโจทก์เป็นว่า คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์ โดยนางบังอร ลำยองเสถียรผู้จัดการคณะบุคคล ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์ พนาพิศาล โจทก์ และแก้ไขข้อความในคำฟ้องเดิมเป็นว่าโจทก์มีฐานะเป็นคณะบุคคลถูกต้องตามกฎหมายโดยใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์” ประกอบด้วยนางบังอรและนายพงศ์วิทย์โดยมีนางบังอรเป็นผู้จัดการคณะบุคคลมีอำนาจกระทำการแทนคณะบุคคลได้ในการยื่นฟ้องนี้นางบังอรกระทำในฐานะผู้จัดการคณะบุคคลในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์ด้วยโดยนายพงศ์วิทย์ได้มอบอำนาจให้นางบังอรเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้ ศาลฎีกาเห็นว่าการแก้ไขคำฟ้องนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 17ซึ่งการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาข้ออ้างที่มีต่อจำเลยอันกล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก โดยการเพิ่มหรือลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิมหรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ แต่คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามมาตรา 67 เข้ามาในภายหลัง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องฉบับดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลแต่อย่างใด ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิใช่เหตุที่จำเลยยกขึ้นแก้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และ 142(5) ในชั้นชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ไว้ด้วย ประเด็นดังกล่าวศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัยไว้ แต่เนื่องจากประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวนี้ก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า โจทก์มีฐานะเป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์” ประกอบด้วยนางบังอร ลำยองเสถียรและนายพงศ์วิทย์ พนาพิศาล โดยมีนางบังอร เป็นผู้จัดการคณะบุคคล มีอำนาจกระทำการแทนคณะบุคคลได้ นางบังอรในฐานะผู้จัดการคณะบุคคลได้ลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายความมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องจำเลย ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากรพ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติถึงผู้ที่จะเป็นคู่ความไว้ ดังนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 ซึ่งผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดี กล่าวคือเป็นผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) ว่า “คู่ความ”หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และคำว่าบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสำหรับคณะบุคคลบังอร-พงศ์วิทย์ นั้น เป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เพื่อยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว โดยบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลนั้นเพื่อเสียภาษีอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งลักษณะ 22ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่านางบังอรและนายพงศ์วิทย์ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว ผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้ จึงมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน เมื่อโจทก์มิใช่บุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคลจึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาอื่นของโจทก์อีกต่อไป”

พิพากษายืน

Share