คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 3นำรถยนต์คันเกิดเหตุเข้าร่วมบริการเดินรถรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่จำเลยที่ 4 ได้รับสัมปทานการที่จำเลยที่ 3 นำรถยนต์เข้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าวเป็นการกระทำไปโดยพลการ ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ด้วย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 452,311 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกตรากงจักรหมายเลขทะเบียน 80323 ของจำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดชนกันก็เป็นความประมาทของนายไพโรจน์ ที่ขับแซงรถคันอื่นที่แล่นอยู่ข้างหน้ากินทางเข้ามาในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นนายจ้างของนายไพโรจน์ และมิได้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารเล็กหมายเลขทะเบียนน.1723 พังงา โดยรถยนต์ดังกล่าวนำเข้าสังกัดเป็นรถร่วมของจำเลยที่ 4 และเหตุรถชนกันเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้ยินยอมให้รถยนต์ของจำเลยที่ 3 เข้าเป็นรถร่วมในเส้นทางหาดใหญ่-สงขลา ที่จำเลยที่ 4ได้รับสัมปทานและไม่ได้รับประโยชน์จากรถยนต์ของจำเลยที่ 3ที่วิ่งรับผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 273,200 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 15 กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4ร่วมกันชำระเงิน 350,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 4 กับผู้ที่ประสงค์นำรถยนต์เข้าประกอบกิจการร่วมกับจำเลยที่ 4 ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจัดทำขึ้นตามรายงานการประชุมเอกสารหมายล.6 ซึ่งโจทก์ทั้งสองมิได้โต้แย้งถึงความมีอยู่และความถูกต้องมีเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญหลายประการ โดยมีข้อสำคัญประการหนึ่งว่ารถยนต์สองแถวที่จะนำมาวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 4 ในเส้นทางสัมปทานดังกล่าวต้องเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนไว้ ณ จังหวัดสงขลาก่อนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2526 และต้องดำเนินการเอารถเข้าร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2526 ซึ่งนายกลิ่น แก้วสนิท พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านว่ารถที่จะเข้าร่วมบริการตามมติที่ประชุมต้องเป็นรถที่จดทะเบียนไว้ณ จังหวัดสงขลา ดังเช่นรถยนต์ของพยานซึ่งจดทะเบียนที่จังหวัดปัตตานีก็ต้องโอนทะเบียนมาที่จังหวัดสงขลาก่อนที่จะเข้าร่วมกับจำเลยที่ 4 รถจดทะเบียนที่จังหวัดอื่นไม่มีสิทธิเข้าร่วมเพราะวัตถุประสงค์แห่งการประชุมเพื่อช่วยเหลือคนจังหวัดสงขลาและเจ้าของรถยนต์ที่จดทะเบียน ณ จังหวัดสงขลาแล้ว คำเบิกความของนายกลิ่นพยานโจทก์เจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4จึงเชื่อได้ว่าผู้ที่นำรถยนต์เข้าร่วมบริการกับจำเลยที่ 4 ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.6 แต่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ยังคงใช้เลขทะเบียนรถของจังหวัดพังงาอยู่ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 แสดงว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 3 มิได้จดทะเบียนไว้ ณ จังหวัดสงขลา ก่อนวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2526 เป็นการขัดกับข้อตกลงที่จำเลยที่ 4 จะรับเข้าเป็นรถยนต์ร่วมบริการ ทั้งยังล่วงเลยระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่1 กรกฎาคม 2526 ในการนำรถยนต์ไปจดทะเบียนต่อขนส่งจังหวัดสงขลาตามข้อตกลงแล้ว เป็นการขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมบริการกับจำเลยที่ 4 ที่โจทก์นำสืบว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 3 คันเกิดเหตุเป็นรถที่เข้าร่วมบริการกับจำเลยที่ 4 เพราะที่ประตูรถยนต์ทั้งสองข้างมีตัวอักษรเป็นข้อความว่าบริษัทโพธิ์ทอง ขนส่ง (2505)จำกัด ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 4 และที่หลังคาด้านหน้า พ่นสีตัวอักษรว่ารถร่วมโพธิ์ทองทั้งสัญญาประกันภัยของรถยนต์คันเกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.20 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้เอาประกันภัยนั้นเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวไม่อาจฟังว่ารถยนต์ คันเกิดเหตุเข้าร่วมบริการกับจำเลยที่ 4 เพราะโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการทำสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวแทนจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ และนายกลิ่นพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่นำรถยนต์เข้าร่วมบริการกับจำเลยที่ 4 อย่างถูกต้องยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านไว้ว่าเจ้าของรถยนต์ที่จะเข้าร่วมบริการจะต้องไปติดต่อทำสัญญาประกันภัยและลงชื่อในสัญญาประกันภัยเอง ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4ไม่ได้เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับข้อความที่ปรากฏอยู่ที่รถยนต์คันเกิดเหตุรวมทั้งการประกันภัยด้วยนอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ 3ในการที่จำเลยที่ 3 นำรถยนต์เข้าวิ่งในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 4 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 นำรถยนต์คันเกิดเหตุเข้าร่วมบริการเดินรถรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่จำเลยที่ 4 ได้รับสัมปทานการที่จำเลยที่ 3นำรถยนต์เข้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าวเป็นการกระทำไปโดยพลการ ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ด้วย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share