แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำบอกเล่าของผู้ตายเพียงปากเดียว แม้จะพูดในขณะรู้ตัวว่าจะตาย ถ้าไม่มีพยานอื่นประกอบให้น่าเชื่อ ก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้
ฎีการะบุว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ฎีกา แต่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกาแต่ผู้เดียว กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 เท่านั้นฎีกา เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย ย่อมมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยเพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา225.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91,288 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 ทวิ,55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522 มาตรา 6, 8 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 ข้อ 2, 3 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72ทวิ, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522 มาตรา 6, 8คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2514 ข้อ 3, 7 กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 ข้อ 2, 3 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา 20 ปี ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน 15 ปี และฐานพาอาวุธปืน 2 ปี เรียงกระทงลงโทษแล้วจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 37 ปี จำเลยที่ 2 มีอายุไม่เกิน 17 ปี เมื่อลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 แล้ว ให้จำคุกฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา 10 ปี ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน 7 ปี 6เดือน และฐานพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน 1 ปี เรียงกระทงลงโทษแล้วจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 18 ปี 6 เดือน ของกลางริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ปัญหาว่าผู้ตายได้บอกชื่อจำเลยก่อนตายนั้นเพียงพอลงโทษจำเลยหรือไม่ นายสุธนพยานเบิกความแต่เพียงว่าผู้ตายสั่งว่า ถ้าพ่อตายให้บอกว่านายเวกนายทินเป็นคนยิงส่วนพลตำรวจเรวัตร์พยานว่า ผู้ตายบอกว่านายเวชนายพินและน้องชายนายพินเป็นคนยิง ผู้ตายเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกตอนเดินผ่านผู้ตายที่กอกล้วยห่างประมาณ 5-6 เมตร เห็นได้จากแสงจันทร์พลตำรวจชัยณรงค์เป็นคนจดบันทึกไว้โดยยืนฟังอยู่แล้วเดินไปจดบันทึกที่ตู้ยาม สงสัยอะไรก็กลับมาถามแล้วกลับไปบันทึกผู้ตายบอกชื่อจำเลยขณะที่พูดว่าต้องตายแน่ ๆ แต่พลตำรวจชัยณรงค์เบิกความว่าผู้ตายบอกว่าเห็นจำเลยกับพวกวิ่งผ่านขณะผู้ตายอยู่ที่กอกล้วยห่างราว 8-9 วา (เกือบ 20 เมตร) พยานจดบันทึกตามที่ผู้ตายบอกโดยยืนจดบันทึกตรงบริเวณรถจอดนั้นเองพยานโจทก์ทั้งสามปากนี้เบิกความแตกต่างกัน ทำให้ไม่ทราบแน่ว่าผู้ตายระบุชื่อเฉพาะนายเวกหรือเวชกับนายทินหรือระบุน้องชายนายพินคือจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนที่ว่าเห็นและจำจำเลยได้นั้นเห็นในขณะจำเลยทั้งสองเดินหรือวิ่งผ่านห่างกันในระยะ 5-6 เมตรหรือเกือบ 20 เมตร และพลตำรวจชัยณรงค์จดบันทึกปากคำผู้ตายโดยกลับไปจดที่ป้อมยาม หรือจดตรงที่ผู้ตายนอนอยู่บนรถยนต์ ซึ่งไม่แน่นอนอย่างใด นอกจากนั้นผู้ตายไม่ได้บอกชื่อจำเลยให้นายเลื่อนฟังเลย ทั้ง ๆ ที่นายเลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ผู้ตายให้ลูกชายไปตามมา ได้พบก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจป้อมยามขณะไปบนรถพาไปป้อมยามและพาไปโรงพยาบาลกลับไม่มีการไต่ถามถึงคนร้ายเลย ดูเป็นการผิดวิสัยเพราะนายเลื่อนก็เป็นเจ้าพนักงานด้วยผู้หนึ่ง บ้านอยู่ใกล้กันและผู้ตายนึกถึงเป็นคนแรกให้ไปตามมาพบผู้ตาย ผู้ตายเองขณะที่ว่าเห็นจำเลยนั้นก็ถูกยิงแล้ว ถูกบริเวณร่างกายหลายแห่งด้วยกระสุนปืนเอ็ม 16และอาร์กาโดยเฉพาะบาดแผลบริเวณหลังถึง 3 แห่ง และกระดูกซึ่โครงซ้ายหัก ขณะนั้นมึดแล้วผู้ตายต้องจุดตะเกียงรับประทานอาหารที่ว่าเห็นคนร้ายก็เห็นด้วยแสงจันทร์ ซึ่งนายสุธนพยานเบิกความว่า เห็นคนร้ายกำลังวิ่งหนีห่างกัน 10 กว่าว่า จำไม่ได้ก็เพราะมันมึดแล้ว ทั้งตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมายจ.3 ก็ว่าผู้ตายวิ่งหนีไปแอบดูคนร้ายเห็นจำเลยกับพวกห่างจากผู้ตายราว 8-9 วา ตามบันทึกคำบอกเล่าของผู้ตายที่พลตำรวจชัยณรงค์บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 ก็มีข้อความสามบรรทัดแรกเขียนตัวใหญ่ว่าคนยิงคือนายพินกับนายเวช และสองบรรทัดต่อมาเขียนตัวเล็กกว่าสามบรรทัดบน มีข้อความว่านายพิน นายเวช และน้องนายพินเป็นผู้ยิง ซึ่งสองบรรทัดหลังนี้อยู่ติดกับลายพิมพ์นิ้วมือผู้ตายเกือบจะซ้อนกัน คล้ายกับว่าเขียนคนละคราวกันทำให้ไม่แน่ใจว่าผู้ตายได้บอกถึงชื่อจำเลยจริงหรือเปล่า และถ้าบอกจริงผู้ตายจะจำจำเลยทั้งสองได้แน่นอนหรือไม่ เพราะในลักษณะบาดเจ็บถึงขนาดนั้นมองเห็นในระยะห่าง แสงสว่างมีไม่พออาจจะเห็นคนร้ายแล้วเข้าใจว่าเป็นจำเลยทั้งสองก็ได้ เพราะเคยมีสาเหตุกันมาก่อน เห็นว่า ลำพังคำบอกเล่าของผู้ตายเพียงปากเดียว แม้จะฟังว่าพูดในขณะรู้ตัวว่าจะตาย แต่ไม่มีพยานอื่นประกอบให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 คือคนร้ายรายนี้จริง ก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้
คดีนี้ปรากฎว่าจำเลยระบุมาในตอนต้นฎีกาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ฎีกา แต่ตอนลงลายมือชื่อผู้ฎีกากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกามาแต่ผู้เดียวจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 เท่านั้นฎีกาขึ้นมา จำเลยที่ 2 หาได้ฎีกาด้วยไม่ แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้ ย่อมมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ด้วยตามมาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น’
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์แต่ของกลางให้ริบ.