คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ธนาคารโจทก์เจตนาฝ่าฝืน พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 โดยธนาคารโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทป.และบริษัทส.โดยโจทก์จัดตั้งและจดทะเบียนบริษัททั้งสองดังกล่าวขึ้นมาแล้วให้พนักงานที่โจทก์ไว้วางใจเป็นผู้ถือหุ้นแทน จึงเป็นการที่ธนาคารโจทก์มีหุ้นในบริษัทจำกัดป. และส.เกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัททั้งสอง อันเป็นการต้องห้ามโดยบทกฎหมายดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง การถือหุ้นของธนาคารโจทก์ในบริษัทป. และ บริษัทส.จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์เข้าถือหุ้น ในบริษัททั้งสองดังกล่าว แม้การที่ธนาคารโจทก์ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทอื่นเป็นการ ถือหุ้นโดยมิชอบและตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยซึ่งเป็นพนักงาน ของโจทก์ดำเนินธุรกิจให้โจทก์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงิน และทรัพย์สินของธนาคารโจทก์ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยมิชอบอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้อง รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคารโจทก์ จำเลยร่วมกับพวกดำเนินการทางธุรกิจโดยมิชอบจนมีการขาย ที่ดินให้แก่บริษัทร.เป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหายการที่บริษัทร.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีนำที่ดินดังกล่าวทั้งหมดมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดี ที่โจทก์ฟ้องบริษัทป.ที่ธนาคารโจทก์เข้าถือหุ้นเป็นจำเลยเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับจำนองที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อเป็นประกัน การปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ไม่ใช่โจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนมาแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์โดยมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินและวิเทศธน กิจ มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผนบริหารงานบริหารหลักทรัพย์ กำกับ ควบคุม ดูแลและติดตามสถานะการเงินของโจทก์ทั้งระบบและอื่น ๆ และจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด พ.ศ. 2533 ฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2533 โดยเฉพาะหมวดที่ 5 ว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัยคือ พนักงานลูกจ้างทุกคนต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาและต้องดูแลระวังรักษาทรัพย์สินของโจทก์ ไม่จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โจทก์มีทรัพย์สินหลายประเภทโดยเฉพาะการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ที่เรียกว่าบริษัทในเครือของโจทก์ได้แก่บริษัทประธานการค้า จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเซรามงค์ จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด โดยบริษัทประธานการค้า จำกัด มีทรัพย์สินเป็นที่ดินมีโฉนดรวม 6 แปลง และโรงงาน ตลอดจนเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งที่ดินมีราคารวมทั้งสิ้นประมาณ 620,400,000 บาทในวันที่ 11 มกราคม 2538 บริษัทประธานการค้า จำกัด เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 908,807,556.49 บาท เนื่องจากบริษัทประธานการค้า จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด เป็นหนี้โจทก์จำนวนมาก โจทก์มีความประสงค์จะขายหุ้นทั้งสองบริษัทเพื่อแปลงสินทรัพย์ที่มีภาระเป็นสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงิน จึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการติดต่อหาผู้ซื้อหุ้นในบริษัททั้งสอง แต่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยจำเลยได้นำหุ้นของทั้งสองบริษัทดังกล่าวไปโอนขายให้แก่บริษัทบอลแคป จำกัด ในราคา 802,085,217 บาท โดยโจทก์จะได้รับชำระค่าหุ้นต่อเมื่อบริษัทบอลแคป จำกัด ได้รับตราสารโอนหุ้นอย่างถูกต้อง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 โจทก์โอนหุ้นทั้งหมดของทั้งสองบริษัทให้แก่บริษัทบอลแคป จำกัด เพื่อปฏิบัติตามสัญญาที่จำเลยได้ทำขึ้นจำเลยย่อมทราบดีว่าเมื่อบริษัทบอลแคป จำกัด เข้าถือหุ้นในบริษัททั้งสองแล้วบริษัทบอลแคป จำกัด ย่อมมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะจัดการกับทรัพย์สินอันได้แก่ที่ดินและโรงงานตลอดจนเครื่องจักรของทั้งสองบริษัทได้อย่างเต็มที่โดยจำเลยจะต้องมีภาระหน้าที่ระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะหากบริษัทบอลแคปจำกัด ไม่ชำระค่าหุ้นที่ซื้อขายดังกล่าวข้างต้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นอย่างมาก แต่จำเลยหาได้จัดการระมัดระวังเช่นนั้นไม่ กลับปล่อยปละละเลยด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือจงใจให้มีการโอนหุ้นของทั้งสองบริษัทให้แก่บริษัทบอลแคป จำกัด ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังมิได้รับชำระราคาค่าหุ้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายกล่าวคือเมื่อบริษัทบอลแคป จำกัด ได้รับโอนหุ้นแล้วบริษัทบอลแคป จำกัด ได้ดำเนินการก่อให้เกิดภาระผูกพันในทรัพย์สินของบริษัทประธานการค้า จำกัด โดยแก้ไขอำนาจกรรมการของบริษัทประธานการค้า จำกัด แต่งตั้งบุคคลของบริษัทบอลแคป จำกัด เข้าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทประธานการค้า จำกัด ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2537 (ที่ถูกเป็นวันที่ 10 สิงหาคม 2538) และวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 กรรมการบริษัทดังกล่าวได้นำที่ดินทั้ง 6 แปลง ของบริษัทประธานการค้า จำกัด ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่นายพรเทพ ปิยวัฒนเมธารวมเป็นเงินจำนวน 35,120,000 บาท วันที่ 1 สิงหาคม 2539กรรมการบริษัทดังกล่าวได้นำที่ดินทั้ง 6 แปลง ไปจดทะเบียนขายให้แก่บริษัทรัตนวิกิจ จำกัด เป็นเงิน 250,000,000 บาท จากการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์สูญเสียทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกันหนี้ของโจทก์คือ ที่ดินทั้ง 6 แปลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 620,400,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์ นอกจากนี้จำเลยได้รายงานต่อโจทก์ว่าขายหุ้นไปในราคา 941,287,208.93 บาท หรือ 37.47 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ โดยบริษัทบอลแคป จำกัด จะนำเงินจำนวน 370,000,000 บาท เข้าฝากยังธนาคารต่างประเทศที่เมืองนิวยอร์คหรือเมืองซูริคในนามโจทก์ แต่โจทก์จะถอนเงินดังกล่าวไม่ได้จนกว่าจะครบ 10 ปี และเมื่อครบ 10 ปี จำนวนเงินในบัญชีที่โจทก์จะเบิกถอนได้จะมีจำนวน 941,287,208.93 บาทซึ่งถือเป็นราคาหุ้นของทั้งสองบริษัท และจำเลยได้เสนอโจทก์อีกว่าเมื่อบริษัทบอลแคป จำกัด ซื้อหุ้นของทั้งสองบริษัทแล้วโจทก์จะต้องให้บริษัทประธานการค้า จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด กู้ยืมเงินอีกจำนวน 9 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ หรือประมาณ 230,000,000 บาท ครั้นเมื่อบริษัทบอลแคป จำกัด รับโอนหุ้นและเข้าบริหารกิจการของทั้งสองบริษัทแล้วโจทก์ได้ให้สินเชื่อแก่บริษัทประธานการค้า จำกัด บางส่วนเป็นเงินจำนวน 75,000,000 บาท ตามที่จำเลยเสนอการให้สินเชื่อดังกล่าวจำเลยย่อมทราบดีว่าเมื่อบริษัทบอลแคป จำกัด เข้าถือหุ้นและเข้าบริหารในบริษัทประธานการค้า จำกัด แล้วเงินที่โจทก์ให้สินเชื่อไปย่อมตกได้แก่บริษัทบอลแคป จำกัด ในอันที่จะนำเงินนั้นไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการโอนขายหุ้นย่อมจะต้องแจ้งให้โจทก์ชะลอหรือระงับการให้สินเชื่อจนกว่าโจทก์จะได้รับเงินค่าหุ้นหรือมีหลักประกันในการได้รับชำระเงินค่าหุ้นที่แน่นอนก่อนแต่จำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ เป็นเหตุให้โจทก์ให้สินเชื่อจำนวนดังกล่าวไป ทั้ง ๆ ที่จนปัจจุบันบริษัทบอลแคป จำกัด ก็ยังมิได้ชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินจำนวน 75,000,000 บาท จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 695,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน93,120,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ถือหุ้นในบริษัทประธานการค้า จำกัด หรือบริษัทเซรามงค์ จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ข้อเท็จจริง ตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัททั้งสองดังกล่าว และปรากฏจากคำเบิกความของนายดิลก กลินณศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และคำเบิกความของจำเลยว่าโจทก์จัดตั้งและจดทะเบียนบริษัททั้งสองขึ้นมาโดยให้พนักงานที่โจทก์ไว้วางใจเป็นผู้ถือหุ้นแทน ทั้งปรากฏว่าบริษัทประธานการค้า จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2524 และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2533 ซึ่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 10 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการดังต่อไปนี้ (5) ซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดใดเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น” ธนาคารพาณิชย์ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2528 มาตรา 5 และมาตรา 15 ตามลำดับ นอกจากธนาคารผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 44 แล้วธนาคารผู้ฝ่าฝืนยังมีความผิดตามมาตรา 46 ถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ยังกระทำการฝ่าฝืนอยู่และมาตรา 46 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 21 บัญญัติให้ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ใดกระทำความผิดตามมาตรา 44 กรรมการของธนาคารพาณิชย์นั้น หรือบุคคลใดที่รับผิดชอบในการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น การที่โจทก์ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทประธานการค้า จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด จึงเป็นการมีหุ้นในบริษัทจำกัดเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัททั้งสองเช่นนี้ เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามโดยบทกฎหมายดังกล่าวอย่างชัดแจ้งการถือหุ้นของโจทก์ในบริษัทประธานการค้า จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 บรรพ 1 เดิมที่ใช้บังคับในขณะนั้น
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ดูแลด้านการเงินของโจทก์และดูแลลูกค้าในการกู้ยืมเงินจากโจทก์ การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวมีเจตนาร่วมกันที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เช่น โจทก์โดยนายเกริกเกียรติได้ให้บริษัทประธานการค้า จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 210,000,000 บาท เพื่อไปซื้อทรัพย์สินของบริษัทอุตสาหกรรมโมเสดไทย จำกัด เมื่อบริษัทประธานการค้า จำกัด เข้าบริหารกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมโมเสดไทย จำกัด ในเวลาต่อมาโดยคณะผู้บริหารที่นายเกริกเกียรติส่งไปก็ประสบการขาดทุนตลอดมาคิดถึงวันที่ 11 มกราคม 2538 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 908,807,556.49 บาท ส่วนบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด นับแต่เข้าบริหารกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพ จำกัด โดยคณะผู้บริหารที่นายเกริกเกียรติส่งไปเช่นกัน ก็ประสบการขาดทุนตลอดมาเช่นเดียวกัน คิดถึงวันที่ 11 มกราคม 2538 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 32,479,652.44 บาท และเมื่อนายเกริกเกียรติกระทำการแทนโจทก์มอบให้จำเลยไปดำเนินการขายหุ้นและทรัพย์สินของบริษัทประธานการค้า จำกัด กับบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด ให้แก่บริษัทบอลแคป จำกัด ตามข้อเสนอของนางสาวประภาศรีและจำเลย โดยบริษัทบอลแคป จำกัด ชำระหนี้ด้วยเช็คเอกสารหมาย จ.16 เป็นจำนวน 37,471,624.56 ดอลล่าร์ สหรัฐ เมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คดังกล่าวไม่ได้ผู้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์คือบริษัทบอลแคป จำกัด ผู้สั่งจ่ายทั้งที่บริษัทนี้มีทุนจดทะเบียนเพียง 50,000 บาท เท่านั้น ซึ่งไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คดังกล่าวได้ และบริษัทประธานการค้า จำกัด ผู้สลักหลังซึ่งเป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนแล้วจำนวนมากถึง 908,807,556.49 บาท อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยนายเกริกเกียรติ นายราเกซ นายสุชา และนางสาวประภาศรี มีเจตนาร่วมกันดำเนินการตามเอกสารหมาย จ.10 จ.13 และ จ.17 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์จะไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.16 อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหลังจากจำเลยทำบันทึกเอกสารหมาย จ.22 ยกเลิกสัญญาซื้อขายหลักตามเอกสารหมาย จ.13 แล้วปรากฏว่าบริษัทบอลแคป จำกัด ได้โอนหุ้นของบริษัทประธานการค้า จำกัด หรือบริษัทเซรามงค์ จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด คืนให้แก่โจทก์เป็นการโอนคืนในลักษณะโอนลอย โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนทั้งไม่ปรากฏว่าจำนวนเงินที่บริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด นำที่ดิน 2 แปลงไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของบริษัทประธานการค้า จำกัด จำนวน 75,000,000 บาทและจำนวนเงินที่บริษัทประธานการค้า จำกัด นำที่ดิน 6 แปลง ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของตนเองจำนวน 18,120,000 บาทนั้นมีการนำเข้าบัญชีของบริษัทประธานการค้า จำกัด แต่อย่างใด นอกจากนี้เงินจำนวน 17,000,000 บาท ที่บริษัทประธานการค้า จำกัด ขึ้นเงินจำนอง และเงินจำนวน 250,000,000 บาท ที่บริษัทประธานการค้า จำกัด ขายที่ดิน6 แปลง ซึ่งเงินสองจำนวนหลังนี้เกิดขึ้นภายหลังจากมีการโอนหุ้นลอยคืนให้แก่โจทก์แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำเข้าบัญชีของบริษัทประธานการค้า จำกัดหรือบัญชีของโจทก์แสดงให้เห็นว่า จำเลย นายเกริกเกียรติและนายพรเทพ ร่วมกันกระทำการทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทประธานการค้า จำกัด และบริษัทสยามอิควิตี้ซัพพลายส์ จำกัด อันเป็นการถือหุ้นโดยมิชอบแต่จำเลย นายเกริกเกียรติและนายพรเทพ กับพวก ได้กระทำการซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินและทรัพย์สินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ของตนโดยมิชอบ อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดเพียง 93,120,000 บาท เท่านั้นย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยมากอยู่แล้ว
ที่จำเลยอ้างว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้ฟ้องบริษัทประธานการค้า จำกัด หรือบริษัทเซรามงค์ จำกัด ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 19787/2539 ด้วยจำนวนทุนทรัพย์ 1,038,541,115.52 บาทและต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2540 ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล และบริษัทรัตนวิกิจ จำกัด ซึ่งเป็นบุคคภายนอกยอมตนผูกพันเข้าทำสัญญาค้ำประกันสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยนำที่ดิน 6 แปลง ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.9ให้โจทก์นำไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมจำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาทและโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่ศาลแรงงานกลางมิได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยร่วมกับพวกดำเนินการทางธุรกิจโดยมิชอบจนมีการขายที่ดินให้แก่บริษัทรัตนวิกิจ จำกัด เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายการที่บริษัทรัตนวิกิจ จำกัดนำที่ดินทั้ง 6 แปลง ดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับจำนองที่ดินทั้ง 6 แปลง ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนมาแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share