แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำหรับจำเลยที่ 6 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108,108ทวิ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ซึ่งมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 แล้ว เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ข้อหาความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่อาจฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ในข้อหาความผิดนั้นได้อีก ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนฎีกาที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ โจทก์กล่าวในฎีกาเพียงว่าขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น มิได้กล่าวว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่แจ้งชัด ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติมาตราทั้งสองดังกล่าวเช่นกัน ตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 3(พ.ศ. 2515) ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการแจ้งและออกคำสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์พุทธศักราช 2515 ใช้บังคับกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งบันทึกเหตุการณ์และเหตุผลในการไม่ยอมรับหนังสือแจ้งไว้และให้มีพยานอย่างน้อย 2 คน ลงชื่อรับรองไว้ในบันทึกนั้นด้วยเมื่อผู้นำส่งหนังสือแจ้งได้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้นแล้ว ให้ถือว่าผู้ฝ่าฝืนได้รับหนังสือแจ้งแล้ว แต่ตามบันทึกข้อความของเจ้าหน้าที่ผู้นำหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินไปส่งแก่จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 นอกจากจะไม่ปรากฏเหตุผลที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมรับหนังสือแจ้งแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้นำส่งได้สอบถามเหตุผลเอาจากผู้ฝ่าฝืนแล้วบันทึกไว้ และไม่ปรากฏว่าบันทึกดังกล่าวเป็นเอกสารที่อ้างอิงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ถึงที่ 7 ว่าเป็นผู้เข้าไปยึดถือครอบครองก่อสร้างที่ดินของรัฐอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่ง ประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใดบันทึกข้อความนั้นจึงยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ระเบียบดังกล่าวกำหนด ดังนั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7ได้รับหนังสือแจ้งอันเป็นคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้และทราบคำสั่งนั้นแล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ถึงที่ 7 ยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และให้จำเลยทั้งเจ็ดและบริวารของจำเลยทั้งหมดออกจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครอง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ อันเป็นบทหนักให้จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 6 เดือน ให้จำเลยที่ 6 และบริวารทั้งหมดออกจากที่ดินที่เข้ายึดถือครอบครอง
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 แล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยที่ 6 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108, 108 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ซึ่งมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 แล้ว เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่อาจฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ในข้อหาความผิดนั้นได้อีก ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ โจทก์ก็กล่าวในฎีกาเพียงว่าขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น มิได้กล่าวว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่แจ้งชัด ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติมาตราทั้งสองดังกล่าวเช่นกันศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีกาเพียงว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368หรือไม่ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 หรือไม่เท่านั้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การนำส่งหนังสือแจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยออกจากที่ดินดังกล่าวถูกต้อง จำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายขันชัย ชัยจันทร์เป็นเจ้าหน้าที่ผู้นำหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 แต่จำเลยดังกล่าวไม่ยอมรับนายขันชัยจึงได้ทำบันทึกข้อความไว้ปรากฏตามเอกสารหมายตาม ป.จ.1 และ ป.จ.2 ตามลำดับ ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารหมายป.จ.1 และ ป.จ.2 แล้วไม่ปรากฏว่ามีบันทึกเหตุผลของการที่ผู้บุกรุกหรือฝ่าฝืนคำสั่งไม่ยอมรับหนังสือแจ้งไว้แต่อย่างใดใช่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏในบันทึกดังกล่าวซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินจะต้องบันทึกให้ปรากฏไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นการส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าวอย่างแท้จริงตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515) ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการแจ้งและออกคำสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2515 ใช้บังคับ ในหมวด 2 การแจ้งและมีคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนออกจากที่ดินของรัฐ กำหนดไว้ในข้อ 7 ซึ่งสำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่นำไปส่ง ให้ปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมลงชื่อรับหนังสือแจ้งในใบรับ ดังนี้คือ ให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งบันทึกเหตุการณ์และเหตุผลในการไม่ยอมรับหนังสือแจ้งไว้ และให้มีพยานอย่างน้อย 2 คน ลงชื่อรับรองไว้ในบันทึกนั้นด้วย เมื่อผู้นำส่งหนังสือแจ้งได้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้นแล้วให้ถือว่าผู้ฝ่าฝืนได้รับหนังสือแจ้งแล้ว แต่ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 นอกจากจะไม่ปรากฏเหตุผลที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมรับหนังสือแจ้งแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือได้สอบถามเหตุผลเอาจากผู้ฝ่าฝืนแล้วบันทึกไว้แต่อย่างใดอีกทั้งหากผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมแจ้งเหตุผล ก็ชอบที่เจ้าหน้าที่จะจดแจ้งข้อความว่าผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมแจ้งเหตุผลให้ปรากฏไว้ แต่ก็หาได้ปรากฏเช่นนั้นไม่โดยเฉพาะไม่ปรากฏว่าเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 เป็นเอกสารที่อ้างอิงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 ว่าเป็นผู้เข้าไปยึดถือครอบครองก่อสร้างที่ดินของรัฐ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ศาลฎีกาได้พิเคราะห์โดยตระหนักแล้ว เห็นว่า บันทึกทั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินต้องปฏิบัติ ดังนั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 ได้รับหนังสือแจ้งอันเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้และทราบคำสั่งนั้นแล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7จึงยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108
พิพากษายืน