คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์โดยจำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันการชำระหนี้ สัญญาจำนองมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด จำเลยยอมรับผิดใช้เงินที่ยังขาดจำนวนนั้นให้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ซึ่งแม้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามคำขอท้ายฟ้อง แต่การบังคับคดีโจทก์ก็ยังต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 284 ที่ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์จนครบถ้วน ซึ่งมีผลเป็นการกำหนดขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้โดยให้โจทก์ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อน เมื่อไม่พอจึงจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลย อันเป็นการพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในการบังคับชำระหนี้น้อยกว่าสิทธิที่มีอยู่ ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องมาแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 311,147.57 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 228,104.59 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและทรัพย์สินที่จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 311,147.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี แต่ทั้งนี้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ของต้นเงิน 228,104.59 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ที่กู้เงินไปจากโจทก์โดยจำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันการชำระหนี้ สัญญาจำนองมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด จำเลยยอมรับผิดใช้เงินที่ยังขาดจำนวนนั้นให้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ซึ่งแม้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามคำขอท้ายฟ้อง แต่การบังคับคดีโจทก์ก็ยังต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 284 ที่ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์จนครบถ้วน ซึ่งมีผลเป็นการกำหนดขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้โดยให้โจทก์ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อน เมื่อไม่พอจึงจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลย อันเป็นการพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในการบังคับชำระหนี้น้อยกว่าสิทธิที่มีอยู่ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องมาแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share