แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำร้ายผู้เสียหาย ปรากฏบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลคือ ริมฝีปากบนช้ำบวม แก้มข้างซ้ายบวมปวด ข้อเท้าซ้ายเคล็ดปวด คอด้านหลังปวดเวลาก้มเงย และปวดกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก รักษาประมาณ 5 วัน นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เสพสุราจนเมา ประพฤติตนวุ่นวาย จนเป็นที่รำคาญของผู้อื่น นายสมบูรณ์ผู้ใหญ่บ้านได้ว่ากล่าวตักเตือน จำเลยด่าว่านายสมบูรณ์อันเป็นการประพฤติตนวุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ นายสมบูรณ์เข้าจับกุมจำเลย จำเลยต่อสู้ขัดขวาง ชกต่อย ทำร้ายร่างกายนายสมบูรณ์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่เป็นเหตุให้นายสมบูรณ์ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๒๙๖, ๑๓๘, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๘ และมีความผิดตามมาตรา ๒๙๕
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๑
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายมีบาดแผล กรณีดังกล่าวเป็นอันตรายแก่กายของผู้เสียหาย เป็นความผิดตามมาตรา ๒๙๕ นั้น ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยได้ทำร้ายผู้เสียหายปรากฏบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลคือ ริมฝีปากช้ำบวม แก้มข้างซ้ายบวมปวด ข้อเท้าซ้ายเคล็ดปวด คอด้านหลังปวดเวลาก้มเงยและปวดกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก รักษา ๕ วัน เช่นนี้ บาดแผลของผู้เสียหายถึงช้ำบวมที่ริมฝีปาก บวมปวดที่แก้ม ข้อเท้าเคล็ดและปวด เวลาก้มเงยคอด้านหลังปวด ทั้งกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกปวด รักษาหายประมาณถึง ๕ วันเช่นนี้ก็นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ หาใช่มาตรา ๓๙๑
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น