แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานที่ดินไม่ตรวจโฉนดตามที่มีโอกาสตรวจ จึงไม่ทราบว่า โฉนดปลอม เป็นประมาทเลินเล่อทำให้เจ้าของที่ดินเสียหาย กรมที่ดิน ต้องรับผิดในการกระทำของผู้แทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 แต่ไล่เบี้ยเอาจากเจ้าพนักงานที่ดินได้ กรณีไม่ใช่ละเมิด มีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164
โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงแสดงสภาพแห่งข้อหาชัดแจ้งและข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว การจะปรับข้อเท็จจริงด้วยบทกฎหมายใดเป็น หน้าที่ของศาล ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 ร่วมกันใช้เงิน 1,676,297 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อแรกจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแห่งคดีตั้งแต่ต้นเป็นลำดับมาเริ่มแต่มีบุคคลแอบอ้างว่าเป็นร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ไปยื่นคำขอใบแทนโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จนกระทั่งโจทก์ต้องใช้เงินแก่นางระเบียบ แสงขำ ตามคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าตามกฎหมายต้องบรรยายเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่งคือเป็นเรื่องละเมิดต่อโจทก์หรือโจทก์ชำระเงินแทนจำเลยแล้วมาเรียกเงินคืนจากจำเลยหรือโจทก์กับจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ไม่มีกฎหมายบังคับดังจำเลยอ้างเมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาโดยชัดแจ้งแล้ว การที่จะปรับข้อเท็จจริงนั้นด้วยบทกฎหมายใดเป็นหน้าที่ของศาล
ข้อที่ 2 จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า กรณีเรื่องนี้เป็นเรื่องละเมิดต้องใช้อายุความ1 ปี
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องและข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ทำตามหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นเหตุให้โจทก์จำต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น โจทก์จึงใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นตัวผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 หาใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดโดยตรงอันจะพึงใช้อายุความ 1 ปีตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1309/2520 ระหว่างกรมที่ดิน โจทก์ นายศิริเกวลินสฤษดิ์ กับพวก จำเลย)” ฯลฯ
“ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ประกอบกับคำเบิกความของนายจิตต์ ณ ตะกั่วทุ่ง เห็นได้ว่า แม้เพียงตรวจซากโฉนดโดยละเอียดก็อาจรู้ได้ว่าเป็นซากโฉนดปลอม ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ได้มีโอกาสตรวจซากโฉนดเปรียบเทียบกับโฉนดสำนักงานที่ดินด้วยแล้ว ก็น่าจะเห็นการปลอมได้ง่ายยิ่งขึ้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจเปรียบเทียบซากโฉนดกับโฉนดสำนักงานที่ดินโดยละเอียดถี่ถ้วน เป็นการแสดงความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย กฎกระทรวงและวิธีการต่าง ๆ ของโจทก์ แต่เมื่อไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการปฏิบัติงานในหน้าที่ก็ถือได้ว่าประมาทเลินเล่อ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2514 ระหว่างนางระเบียบ แสงขำ โจทก์ กรมที่ดิน กับพวก จำเลย (คดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 4746/2510) ก็ได้วินิจฉัยไว้ว่าถ้าหากจำเลยที่ 2 (นายสมบูรณ์โสมมะเกษตริน) จำเลยที่ 3 (นายวิชัย วิทยากูล) จำเลยที่ 4 (นายศุกล อนุสสรนิติสาร) มิได้ละเลยในการตรวจสอบหรือได้ทำการตรวจสอบโดยไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ก็จะพบได้โดยง่ายดายในทันทีที่ตรวจสอบเปรียบเทียบว่าซากโฉนดนั้นต้องไม่ใช่ซากโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินที่แท้จริงหรือเป็นซากโฉนดปลอม ฯลฯ การที่ออกใบแทนโฉนดให้ไปโดยผิดพลาดน่าเชื่อว่าต้องเป็นเพราะจำเลยละเลยไม่ได้ตรวจสอบซากโฉนดเปรียบเทียบกับโฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน หรือถ้ามีการตรวจสอบก็ไม่ได้ใช้ความพินิจพิเคราะห์เท่าที่ควรอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำ โดยประมาทเลินเล่อและความประมาทเลินเล่อนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำต้องเสียค่าสินไหมทดแทนนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
ข้อสุดท้ายจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดเต็มจำนวน เพราะ (1) คำพิพากษาในคดีก่อน ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันรับผิด โจทก์ต้องรับผิดหนึ่งในสี่ส่วน คงเรียกจากจำเลยได้เพียง 3 ส่วน (2) กฎหมาย กฎกระทรวงและคำสั่งของโจทก์บกพร่อง (3) คณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งมีมติให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียง 419,074.25 บาทเท่านั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องร่วมกับจำเลยที่ 1, 2, 3 ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ (คือโจทก์และจำเลยที่ 1, 2, 3 ในคดีนี้) ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่นางระเบียบ แสงขำ โจทก์ โดยเหตุที่ว่าจำเลยที่ 1, 2, 3 ปฏิบัติราชการในหน้าที่และความรับผิดชอบของโจทก์อยู่ในความควบคุมของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดร่วมด้วย ฉะนั้น เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาไปเพราะโจทก์จำต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสี่ใช้เงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นคืน เหตุที่จำเลยอ้างใน (2) ฟังไม่ขึ้นเพราะข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เหตุที่อ้างใน (3) ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้ว จำเลยที่ 2 มิได้อ้างเหตุคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน